ความเห็นต่อรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานในภาคประมงไทยขององค์กร Human Rights Watch
ตามที่องค์กร Human Right Watch (HRW) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานบังคับในภาคประมงของไทย เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้
- ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงอย่างจริงจัง และได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อคุ้มครองแรงงานทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย และการบังคับใช้ โดยได้ทำงานร่วมกับทั้งภาคเอกชน องค์กรเอกชน และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ด้านแรงงาน ในภาคประมงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน การที่รายงานอ้างอิงข้อมูลส่วนใหญ่จากสถานการณ์ในปี 2559 และบางส่วนย้อนหลังไปถึงปี 2555 นั้น ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน
- จุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์แรงงานภาคประมงคือ การบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่กำหนดโทษปรับการใช้แรงงานผิดกฎหมายบนเรือประมงต่อหัวที่สูงมาก ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงาน ซึ่งส่งผลในการป้องปรามการนำแรงงานผิดกฎหมายมาใช้บนเรือประมง และจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีกว่า 4,240 คดี ทั้งคดีแรงงานและคดีประมง โดยเป็นการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในภาคประมงกว่า 85 คดี ผู้ต้องหาถูกพิพากษาจำคุกไปแล้วกว่า 50 ราย โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 14 ปี และมีโทษปรับสูงสุด 2.5 ล้านบาท และริบเรือ
- ในประเด็นการป้องกันแรงงานบังคับ มีมาตรการใหม่หลายด้าน อาทิ การออกหนังสือคนประจำเรือให้กับแรงงานต่างด้าวไปแล้วกว่า 11,100 ราย การกำหนดให้เจ้าของเรือจัดทำหนังสือสัญญาจ้าง จำนวน 2 ฉบับ โดยมอบให้ลูกจ้างเก็บไว้ 1 ฉบับ การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งมีแรงงานประมงที่ได้รับค่าตอบแทนผ่านบัญชีธนาคารแล้วประมาณเกือบ 5,000 ราย การกำหนดให้การยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานเป็นความผิดตามกฎหมายค้ามนุษย์และการออกกฎหมายจัดระเบียบบริษัทจัดหางาน โดยห้ามเรียกเก็บค่านายหน้าจากแรงงาน และให้บริษัทมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งมาขอขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 100 บริษัท การกำหนดหลักเกณฑ์ให้แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในภาคประมง โดย ณ สิ้นปี 2560 มีแรงงานต่างด้าวยื่นขอเปลี่ยนนายจ้างแล้วมากกว่า 100,000 ราย การผ่อนปรนเรื่องบัตรชมพูไม่ให้ยึดติดกับนายจ้าง และการออกกฎหมายห้ามใช้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปีในเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล เมื่อปี 2559 ซึ่งในปี 2560 มีการสั่งปิดโรงงานที่พบการใช้แรงงานเด็กจำนวน 3 โรง และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับเจ้าของโรงงาน
- ในประเด็นการรับรู้สิทธิของแรงงาน รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง 3 แห่งตามแนวเขตชายแดน ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ แก่แรงงานต่างด้าว ซึ่งรวมถึงแรงงานในภาคประมง ตลอดจนตรวจคัดกรองว่าแรงงานต่างด้าวมีนายจ้างจริงตรงตามสัญญาจ้าง ไม่ได้ถูกชักจูง หลอกลวง โดยในปี 2560 อบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวทั้งหมดกว่า 250,000 ราย พร้อมทั้งได้แจกเอกสารคู่มือสำหรับแรงงานต่างด้าว ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย สัญญาจ้าง สิทธิประโยชน์ ความปลอดภัย กฎหมายและข้อห้าม รวมทั้งการขอรับความช่วยเหลือในประเทศไทย
- ในประเด็นกลไกร้องเรียน รัฐบาลไทยยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรเอกชน จัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวใน 10 จังหวัด ในปี 2560 ได้ให้การช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 57,498 ราย เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2559 และมีช่องทางร้องเรียนต่าง ๆ อาทิ บริการสายด่วน 4 สาย สำหรับคุ้มครองแรงงาน และให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ผู้หางานทำ และรับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งให้บริการเป็นภาษาประเทศเพื่อนบ้าน มีผู้ใช้บริการมากขึ้นในปี 2560 รวมกว่า 130,000 ราย โดยมีการแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์ และนำไปสู่การดำเนินคดีกว่า 60 ราย
- ในประเด็นการตรวจแรงงาน มีการดำเนินการอย่างครอบคลุมทั้งที่ท่าเรือ บนเรือ และโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อให้หาเป้าหมายได้ตรงจุด มีการใช้เทคโนโลยีการสแกนม่านตาและใบหน้าเพิ่มขึ้นจากการสแกนลายนิ้วมือลูกเรือประมงทั้งหมดกว่า 80,000 คน เพื่อให้การตรวจแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจและล่ามกว่า 1,500 คน ตลอดจนการฝึกอบรมผู้ตรวจแรงงาน ล่าม และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 ศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง 32 แห่ง ได้มีการตรวจและสัมภาษณ์แรงงานประมงจำนวนกว่า 53,000 คน ซึ่งได้มีการแยกแรงงานมาสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ได้พบแรงงานถูกละเมิด 3,500 คน และมีการตรวจแรงงานในสถานประกอบการแปรรูป 358 แห่งพบการกระทำผิดใน 142 แห่ง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ให้การช่วยเหลือและดำเนินการกับเจ้าของสถานประกอบการเหล่านี้แล้ว ปัจจุบัน ได้มีการออกคำสั่งให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ เมื่อพบกรณีการละเมิดสิทธิของแรงงาน ให้ดำเนินคดีอาญาทันที โดยไม่ต้องรอออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในอดีตที่เคยให้โอกาสนายจ้างได้ทำให้ถูกกฎหมายก่อน
- ข้อเสนอแนะของ HRW หลายเรื่องเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะในด้านกฎหมายนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและขจัดแรงงานบังคับ เพื่อรองรับ
การให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล โดยกำหนดให้การร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารและอนุสัญญาดังกล่าวแล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคม 2561 และคาดว่าจะให้สัตยาบันในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ต่อไป ในส่วนของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายใน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 ก่อนดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ต่อไป - การแก้ไขปัญหาแรงงานของไทยมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมชัดเจนจากตัวเลขสถิติต่าง ๆ ในหลายด้านข้างต้น ซึ่งสะท้อนว่าการบังคับใช้กฎหมายของไทยเป็นไปอย่างจริงจัง รัฐบาลไทยขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อข้อกล่าวหาของ HRW ว่าไทยแก้ไขปัญหาแรงงานแบบผักชีโรยหน้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง และขอเรียกร้องให้ HRW มองสถานการณ์ด้านแรงงานของไทยอย่างสมดุลและปราศจากอคติ โดยไม่นำข้อมูลในอดีตมากล่าวอ้างซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาล จนเกิดข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือและคุณค่าของรายงาน อีกทั้งการออกรายงานฉบับนี้พร้อมกับรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2018 ที่มีข้อมูลไม่สะท้อนความเป็นจริงในประเทศไทยเช่นกัน ยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามได้ถึงเจตนาอันแท้จริงของ HRW
- ที่ผ่านมาไทยได้เปิดเวทีหารือและทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่โดยที่ปัญหาแรงงานเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข และด้วยความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่มีประเทศใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ รัฐบาลไทยขอขอบคุณ HRW ที่ติดตามสถานการณ์แรงงานภาคประมงของไทยอย่างใกล้ชิด และยังคงยืนยันคำเชิญเดิมที่เคยให้กับ HRW ตลอดมาว่า ขอให้ร่วมทำงานกับไทยอย่างสร้างสรรค์และฉันมิตร โดยหวังว่าในโอกาสต่อไป HRW จะสื่อสารข้อห่วงกังวลกับรัฐบาลไทยโดยตรง ซึ่งไทยพร้อมรับฟังและนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
- รัฐบาลไทยขอยืนยันความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะเพียงในภาคประมงเท่านั้น โดยพร้อมจะทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานในทุกด้านให้สอดคล้องกับหลักสากลต่อไป
***************************