คลิกที่นี่ เพื่อทำการนัดหมายออนไลน์
สถานะ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
การขอทำหนังสือเดินทาง
- หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) คือ หนังสือเดินทางที่มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (Biometric Data) ได้แก่ รูปถ่ายใบหน้า ม่านตา และลายนิ้วมือไว้ใน Contactless Integrated Circuit ซึ่งฝังอยู่ในเล่มหนังสือเดินทาง และมีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของหนังสือเดินทาง
- หนังสือเดินทางรุ่นใหม่ มีอายุใช้งานให้เลือก 5 ปี และ 10 ปี (โปรดศึกษาคุณสมบัติในข้อถัดไป) ทั้งนี้ หากหนังสือเดินทางใกล้หมดอายุ (น้อยกว่า 1 ปี) สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแนะนำให้ท่านทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เนื่องสายการบินอาจไม่อนุญาตให้เดินทางในกรณีที่หนังสือเดินทางเหลืออายุการใช้งานน้อยกว่า 6 เดือน
- ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางอายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี ได้แก่
– ผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี)
– ผู้บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป) - ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางอายุใช้งานไม่เกิน 10 ปี ได้แก่
– ผู้บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป) ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ครบถ้วน
4.1 มีชื่อในทะเบียนบ้านไทย
4.2 มีบัตรประจำตัวประชาชนไทยที่ยังมีอายุใช้งาน
(ขอทำบัตรที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ ยกเว้นผู้ที่ยังไม่เคยมีบัตรมาก่อน ต้องขอทำบัตรใบแรกที่ประเทศไทยเท่านั้น) - ข้อมูลส่วนตัวในหนังสือเดินทางจะอ้างอิงตามข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ของผู้ขอหนังสือเดินทางที่ประเทศไทย ดังนั้น ชื่อ-สกุล ในหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยอาจไม่ตรงกับหนังสือเดินทางเล่มเดิม
- หากผู้ยื่นคำร้องต้องการให้ นามสกุลในหนังสือเดินทาง เป็นนามสกุลหลังการสมรส/หย่า จะต้องแก้ไขข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ก่อนที่จะขอทำหนังสือเดินทาง
การยื่นคำร้อง
- กรุณานัดหมายล่วงหน้าผ่านระบบจองออนไลน์ (1 คน ต่อ 1 นัดหมาย) และโปรดแสดงอีเมลยืนยันนัดหมายต่อเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ในวันรับบริการ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับคำร้องของผู้ที่ไม่มีหลักฐานการนัดหมาย และผู้ที่ชื่อจริงไม่ตรงกับชื่อที่ระบุในหลักฐานนัดหมาย (มิใช่บุคคลเดียวกัน) และโปรดมาให้ตรงวัน/เวลาที่นัดหมาย (หากท่านมาสายเกินขอบเขตระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่จะสามารถรับคำร้องได้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับคำร้องของท่านเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อนัดหมายของผู้ร้องท่านอื่น) อย่างไรก็ดี โปรดหมั่นตรวจสอบอีเมล์หรือโทรศัพท์ เพราะเจ้าหน้าที่อาจติดต่อกลับเพื่อขอเลื่อนนัดหมายหากมีเหตุจำเป็น (ระบบจองคิวออนไลน์ จะเปิดให้จองนัดล่วงหน้าได้ไม่เกิน 60 วัน หากท่านไม่พบตัวเลือกวัน-เวลานัดหมายว่าง แปลว่า มีผู้จองคิวเต็มความจุที่สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถให้บริการได้ตลอดช่วง 60 วันข้างหน้าแล้ว กรณีนี้ขอให้ท่านลองกลับมาจองนัดหมายในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากระบบจะเปิดคิวของวันถัดไป (วันที่ 61 นับจากวันนี้) โดยอัตโนมัติ ยกเว้นว่าวันถัดไปตรงกับวันที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ปิดทำการ ระบบก็จะยังไม่ปล่อยคิวเพิ่ม)
- ผู้ร้องขอมีหนังสือเดินทาง จะต้องเดินทางมาทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ และเก็บข้อมูลม่านตา (ขอความร่วมมือไม่สวมใส่คอนแทคเลนส์สีหรือแฟชั่น เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนในการเก็บข้อมูลม่านตา)
- โปรดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนตามที่กำหนด เพื่อประโยชน์ของท่านเองและหลีกเลี่ยงการถูกปฏิเสธรับคำร้อง
- กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) ทั้ง บิดาและมารดา ต้องมาแสดงตนพร้อมกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ (โปรดอ่านด้านล่างสำหรับข้อยกเว้น)
- ค่าธรรมเนียมเงินสด 35 ยูโร (สำหรับหนังสือเดินทางอายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี) และ 50 ยูโร (สำหรับหนังสือเดินทางอายุใช้งานไม่เกิน 10 ปี) ทั้งนี้ ระบบจะทำการบันทึกข้อมูลหนังสือเดินทางเล่มเก่า (Endorsement) ลงในเล่มใหม่โดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่มีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม
- การยื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การผลิตและจัดส่งหนังสือเดินทางจากประเทศไทยมายังสถานเอกอัครราชทูตฯ ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ นับตั้งแต่ยื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ดังนั้น โปรดคำนึงถึงระยะเวลาดังกล่าวสำหรับการนำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ไปใช้งาน (หากท่านมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริงและไม่สามารถรอได้ โปรดติดต่อ passport.par@mfa.go.th เพื่อขอทำเอกสารเดินทางฉุกเฉินหรือหนังสือเดินทางฉุกเฉิน ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 2 เดือนหรือ 1 ปี โดยท่านควรขอนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ และท่านสามารถรอรับเอกสารดังกล่าวได้ภายในวันเดียวกัน)
- ในขั้นตอนการเตรียมเอกสาร กรณีที่ผู้ร้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย แต่หมดอายุ สูญหาย หรือมีข้อมูลในบัตรที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ผู้ร้องสามารถทำ “บัตรประชาชนใบใหม่” ได้ที่สถานเอกอัครราชทูต โดยจะต้องทำการนัดหมายออนไลน์เพื่อขอทำบัตรประชาชน (โปรดคลิกที่นี่เพื่อทำการนัดหมายทำบัตรประชาชน) ทั้งนี้ ขอแนะนำให้นัดหมายทำบัตรประชาชนล่วงหน้าก่อน 1 ชั่วโมง ก่อนเวลานัดทำหนังสือเดินทาง (อย่างไรก็ตาม บัตรประจำตัวประชาชนไทยใบแรกไม่สามารถทำที่สถานเอกอัครราชทูตได้ จะต้องติดต่อขอทำที่สถานีอำเภอหรือสำนักงานเขตที่ประเทศไทยเท่านั้น)
- หากท่านไม่ได้รับการติดต่อกลับจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ท่านยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคำร้องของท่าน ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ สงวนสิทธิที่จะทำลายหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับหนังสือเดินทางซึ่งออกให้แก่ผู้ร้องไว้แล้วแต่ไม่มีผู้มารับหนังสือเดินทางนั้นตามกำหนดนัดเป็นเวลาเกินกว่า 90 วันขึ้นไป ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548
หมายเหตุ: ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมารับหนังสือเดินทางด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และประสงค์จะรับหนังสือเดินทางผ่านช่องทางไปรษณีย์ กรุณาซื้อซองไปรษณีย์เปล่าจาก La Poste แบบ Lettre Suivie– Prêt-à-poster แบบ Pochette Suivie แบบ Prêt-à-poster (เท่านั้น) ขนาดซองน้ำหนักไม่น้อยกว่า 250 กรัม จ่าหน้าซอง (เขียนชื่อและที่อยู่) ถึงตนเองให้เรียบร้อย และมอบให้เจ้าหน้าที่ในวันที่มายื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
หลักฐานประกอบ
1. กรณีบุคคลทั่วไป (20 ปีบริบูรณ์)
- หนังสือเดินทางเล่มเดิมตัวจริง ที่หมดอายุแล้วหรือกำลังจะหมดอายุ (หมายเหตุ : กรณีที่หนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหาย ควรแจ้งความกับหน่วยงานในท้องที่เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำหนังสือเดินทางของท่าน ซึ่งเป็นเอกสารประจำตัวบุคคลไปใช้ในทางที่มิชอบ)
- บัตรประจำตัวประชาชนไทยตัวจริง ที่มีอายุการใช้งาน กรณีที่ท่านเคยมีหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มาแล้ว แต่ยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแนะนำให้ท่านดำเนินการขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใบแรกที่ประเทศไทยในโอกาสแรกก่อน หากท่านยืนยันต้องการขอมีหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ท่านจะต้องมาแสดงตัวเพื่อยื่นคำร้อง พร้อมกับพยานสัญชาติไทยที่บรรลุนิติภาวะจำนวน 2 คน ซึ่งพยานต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนไทยที่ยังมีอายุการใช้งาน และกรอกแบบฟอร์มบันทึกยืนยันข้อมูลบุคคลให้ครบถ้วน (โปรดดาวน์โหลดแบบฟอร์ม) หากต้องการตรวจสอบความเป็นไปได้ในการทำหนังสือเดินทางโดยไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน กรุณาเขียนอีเมลสอบถามสถานทูตฯ ก่อนทำนัดหมาย passport.par@mfa.go.th
- เอกสารที่แสดงว่าท่านพำนักในฝรั่งเศสอย่างถูกกฎหมายตัวจริง ที่มีอายุการใช้งาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
– บัตรพำนักสำหรับผู้มีถิ่นฐานในฝรั่งเศส (Titre de séjour)
– เอกสารชั่วคราวแทน Titre de séjour จาก préfecture (Le récépissé)
– วีซ่าเชงเก้น
– หนังสือเดินทางฝรั่งเศส
– บัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศส
2. กรณีบุคคลทั่วไป (20 ปีบริบูรณ์) ขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรก
- สูติบัตรไทยตัวจริง
- บัตรประจำตัวประชาชนไทยตัวจริง ที่มีอายุการใช้งาน (หากมี)
- ในกรณีที่เกิดในฝรั่งเศส หลักฐานการจดทะเบียนคนเกิดฝรั่งเศส (หรือ L’acte de naissance) ตัวจริง
- บัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศส หรือ หนังสือเดินทางฝรั่งเศสตัวจริง (หากมี)
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุลตัวจริง (หากมี)
- เอกสารที่แสดงว่าท่านพำนักในฝรั่งเศสอย่างถูกกฎหมายตัวจริง ที่มีอายุการใช้งาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
– บัตรพำนักสำหรับผู้มีถิ่นฐานในฝรั่งเศส (Titre de séjour)
– เอกสารชั่วคราวแทน Titre de séjour จาก préfecture (Le récépissé)
– วีซ่าเชงเก้น
– หนังสือเดินทางฝรั่งเศส
– บัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศส
3. กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) ขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรก
ผู้เยาว์มีทั้งบิดาและมารดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือกรณีผู้เยาว์มีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย
เงื่อนไขสำคัญ : บิดาและมารดาต้องมาแสดงตนพร้อมกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อเซ็นยินยอมในเอกสารการยื่นคำร้อง (สำหรับผู้เยาว์ ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว โปรดศึกษา “หมายเหตุ” ด้านล่าง)
- สูติบัตรไทยตัวจริง
- ในกรณีที่เกิดในฝรั่งเศส หลักฐานการจดทะเบียนคนเกิดฝรั่งเศส (หรือ L’acte de naissance) ตัวจริง
- บัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศส หรือ หนังสือเดินทางฝรั่งเศส (ตัวจริง) หากมี
- หนังสือเดินทางตัวจริง ที่มีอายุการใช้งานของทั้งบิดาและมารดา (หากฝ่ายใดถือสัญชาติอื่นก็ให้ยื่นหนังสือเดินทางสัญชาตินั้นด้วย)
- บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งานของบิดาและ/หรือ มารดาสัญชาติไทย
- ใบสำคัญการสมรส (ตัวจริง) ตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายต่างชาติก็ได้ (กรณีบุตรที่เกิดจากมารดาไทยซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา ไม่จำเป็นต้องแสดงใบสำคัญการสมรส)
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุลตัวจริง ของผู้เยาว์ บิดาและ/หรือมารดา
4. กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) ขอทำหนังสือเดินทางตั้งแต่เล่มที่สองเป็นต้นไป
ผู้เยาว์มีทั้งบิดาและมารดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือกรณีผู้เยาว์มีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย
เงื่อนไขสำคัญ : บิดาและมารดาต้องมาแสดงตนพร้อมกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อเซ็นยินยอมในเอกสารการยื่นคำร้อง (สำหรับผู้เยาว์ ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว โปรดศึกษา “หมายเหตุ” ด้านล่าง)
- หนังสือเดินทางเล่มเดิมตัวจริง ที่หมดอายุแล้วหรือกำลังจะหมดอายุ (หมายเหตุ : กรณีที่หนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหาย ท่านต้องแสดงใบแจ้งความที่ได้แจ้งไว้กับตำรวจฝรั่งเศสและมีอายุไม่เกิน 3 เดือน)
- บัตรประจำตัวประชาชนไทยตัวจริง ที่มีอายุการใช้งาน (หากมี) หมายเหตุ : กรณีผู้เยาว์อายุ 7 ปีบริบูรณ์แล้วแต่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการรับคำร้องโดยพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องมีหนังสือเดินทาง โดยผู้ปกครองควรนำบุตรไปทำบัตรประจำตัวประชาชนใบแรกที่ประเทศไทยในโอกาสแรก หากต้องการยืนยันความเป็นไปได้ในการทำหนังสือเดินทางโดยไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน กรุณาเขียนอีเมลสอบถามสถานทูตฯ ก่อนทำนัดหมาย passport.par@mfa.go.th
– ในกรณีที่บุตรของท่านยังไม่เคยมีบัตรประชาชนไทยและท่านยืนยันต้องการขอมีหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้บุตร บุตรของท่านจะต้องมาพร้อมกับพยานสัญชาติไทยที่บรรลุนิติภาวะจำนวน 2 คน (โดยบิดาหรือมารดาสัญชาติไทยสามารถเป็นพยานได้) ซึ่งพยานต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนไทยที่ยังมีอายุการใช้งาน และกรอกแบบฟอร์มบันทึกยืนยันข้อมูลบุคคลให้ครบถ้วน (โปรดดาวน์โหลดแบบฟอร์ม) - สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อผู้เยาว์และระบุเลขประจำตัวประชาชนไทย 13 หลัก จำนวน 1 ชุด (หากมี) (วิธีการนำชื่อผู้เยาว์เข้าทะเบียนบ้านในประเทศไทย)
- สูติบัตรไทยตัวจริง
- ในกรณีที่เกิดในฝรั่งเศส หลักฐานการจดทะเบียนคนเกิดฝรั่งเศส (หรือ L’acte de naissance) ตัวจริง
- บัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศส หรือ หนังสือเดินทางฝรั่งเศส หรือ บัตร Titre de circulation (บัตรพำนักในฝรั่งเศสของผู้เยาว์) ตัวจริง
- หนังสือเดินทางตัวจริง ที่มีอายุการใช้งานของทั้งบิดาและมารดา (หากฝ่ายใดถือสัญชาติอื่นก็ให้ยื่นหนังสือเดินทางสัญชาตินั้นด้วย)
- บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง ที่มีอายุการใช้งานของบิดา และ/หรือ มารดาสัญชาติไทย
- ใบสำคัญการสมรสตัวจริง ตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายต่างชาติก็ได้ (กรณีบุตรที่เกิดจากมารดาไทยซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา ไม่จำเป็นต้องแสดงใบสำคัญการสมรส)
- ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุลตัวจริง ของผู้เยาว์ บิดาและ/หรือมารดา จำนวนอย่างละ 1 ชุด (หากมี)
หมายเหตุ :
กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) มีบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว
ให้นำเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถยืนยันการได้รับอำนาจปกครองบุตรมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ได้แก่
– ใบปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (ป.ค.14) ตัวจริง ซึ่งออกโดยที่ว่าการอำเภอที่บิดาหรือมารดามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
– ทะเบียนหย่าตัวจริง ซึ่งระบุว่าบิดาหรือมารดามีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (ในกรณีหย่าโดยศาลฝรั่งเศสให้นำไปประทับตรารับรองที่กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสก่อน จากนั้นจึงนำไปแปลเป็นภาษาไทย และทำการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส)
– ใบมรณบัตรตัวจริง โดยในกรณีใบมรณบัตรฝรั่งเศสให้นำไปประทับตรารับรองที่กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสก่อน จากนั้นจึงนำไปแปลเป็นภาษาไทย และทำการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส
กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) ที่บิดาและมารดามีอำนาจปกครองบุตรร่วมกัน แต่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถมาแสดงตนต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อเซ็นยินยอมในเอกสารการยื่นคำร้องได้
ให้นำ “หนังสือให้ความยินยอม” (ตัวจริง) ที่ออกโดยหน่วยงานราชการไทย อายุไม่เกิน 6 เดือน พร้อมแนบ “สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง” ของบิดา/มารดา (ที่ไม่สามารถมาแสดงตนได้) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในวันนัดหมาย
– หากท่านพำนักอยู่ประเทศไทย ท่านสามารถขอหนังสือดังกล่าวได้ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ
– หากท่านพำนักอยู่ต่างประเทศ ท่านสามารถขอหนังสือดังกล่าวได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ สถานกงสุลใหญ่ฯ ณ ประเทศนั้นๆ
– หากท่านพำนักอยู่ประเทศฝรั่งเศส ท่านสามารถขอหนังสือดังกล่าวได้ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส โปรดคลิกที่นี่ เพื่อศึกษาขั้นตอนการขอเอกสาร (หัวข้อที่ 2 “หนังสือให้ความยินยอม”) และทำการนัดหมาย