เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรีพบหารือกับประธานาธิบดีเอมานูว์เอล มาครง ณ Élysée Palace โดยผู้นำทั้งสองยินดีที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความแน่นแฟ้น ยาวนานกว่า ๑๖๒ ปี และเห็นพ้องกันที่จะกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ
ผู้นำทั้งสองยินดีต่อการลงนาม Joint Venture Company Principles Agreement ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และสัญญาซื้อขายดาวเทียม THEOS II เพื่อใช้ในการสำรวจทรัพยากรและสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างภาครัฐและเอกชนไทยและฝรั่งเศสรวม ๑๑ ฉบับ ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการเยือนครั้งนี้ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันผลักดันความตกลงเหล่านี้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขต EEC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งจะสนับสนุนการทำงานของสภาธุรกิจของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้น
ผู้นำทั้งสองจะแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน โดยประธานาธิบดีมาครงตอบรับที่จะเดินทางมาเยือนไทยทั้งในกรอบทวิภาคี และในฐานะแขกของประธานการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) ในช่วงที่ไทยจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ และนายกรัฐมนตรีตอบรับที่จะเดินทางเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่กรุงปารีส
นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ฝรั่งเศสเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีของไทย และแผนแม่บทของ ACMECS ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งพร้อมสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของฝรั่งเศสต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
ไทยกับฝรั่งเศสจะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) โดยไทยจะใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และเป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อผลักดันให้ข้อตกลงปารีสบรรลุผลสำเร็จ
นายกรัฐมนตรีได้ฝากขอให้ประธานาธิบดีช่วยดูแลนักลงทุนของไทยในฝรั่งเศส ซึ่งมีบริษัทใหญ่จำนวน ๓ รายได้แก่ บริษัท Double A บริษัท Thai Union Frozen และบริษัท PTT Global Chemical (PCL) ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนในฝรั่งเศสรวมกว่า ๑,๑๐๐ ล้านยูโร (๔๑,๘๐๐ บาท) รวมทั้งขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปโดยเร็ว ซึ่งเป็นที่ต้องการของเอกชนของทั้งสองฝ่าย
ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันให้มีการสื่อสารติดต่อระหว่างกันได้โดยตรง เพื่อติดตามผลักดันให้โครงการลงทุนต่าง ๆ อันเป็นผลจากการหารือครั้งนี้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป