เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย เพื่อแสดงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ของไทย ซึ่งมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไทยได้รับสถานะใบเหลืองเมื่อปี ๒๕๕๘ จนประสบความสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมการประมงของไทยทั้งระบบเทียบเท่ามาตรฐานสากลในปัจจุบัน
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปร่วมงานแถลงข่าวกับนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ณ สำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เพื่อแถลงถึงความสำเร็จของไทยภายใต้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ทั้งในด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวัง การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปเห็นว่า ขณะนี้ไทยมีกลไกแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่เข้มแข็งที่สุดในภูมิภาค และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง ๆ ที่มีปัญหาเดียวกันได้
รองนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า ในฐานะประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๒ ไทยจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ และการทำประมงอย่างยั่งยืนจะเป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญที่ไทยจะผลักดันในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน นอกจากนี้ ยังได้เสนอที่จะยกระดับความร่วมมือกับสหภาพยุโรปไปสู่การส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเลในทุกมิติ ทั้งในด้านการรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ ๑๔ ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้ย้ำว่า ไทยไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เรื่องการประมงอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการประมงอย่างมีจริยธรรม โดยจะควบคุมดูแลแรงงานภาคประมงให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานของอนุสัญญาองค์การระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) และหลักการของสหประชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยไทยจะแสดงบทบาทนำในการเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๘ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ในช่วงปลายเดือนมกราคมศกนี้
ในโอกาสนี้ นายเวลลาได้ชื่นชมการทำงานอย่างหนักและตรงไปตรงมาของไทยจนสามารถทำให้ไทยสามารถดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านการขจัดการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ และชื่นชมความสำเร็จของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างครบถ้วนในทุกด้าน ตลอดจนความก้าวหน้าของไทยในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในภาคประมง ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปประมงไทยทั้งระบบ ซึ่งเป็นผลสำเร็จของความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือสานต่อภารกิจการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายทั้งในระดับภูมิภาคและการส่งเสริมหลักสมุทราภิบาลในระดับโลกต่อไป
ทั้งนี้ ก่อนหน้าการแถลงข่าว รองนายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับนายเวลลา เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนและความยั่งยืนทางทะเลในอนาคต และมีกำหนดจะกล่าวในงานเลี้ยงรับรองกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าประมงในยุโรป ในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๒ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าประมงและสัตว์น้ำจากไทยว่าปลอดจากการทำประมงผิดกฎหมาย ประเทศไทยขอยืนยันความรับผิดชอบทั้งในฐานะรัฐเจ้าของธงที่สามารถควบคุมเรือประมงสัญชาติไทยทั้งในและนอกน่านน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐชายฝั่งที่สามารถจัดการการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม รัฐเจ้าของท่าที่สามารถสกัดกั้นมิให้เรือประมงผิดกฎหมายนำสัตว์น้ำขึ้นท่าที่ไทยได้ และรัฐตลาดที่สามารถควบคุมวัตถุดิบที่นำเข้ามาสู่กระบวนการผลิตสินค้าและส่งออกในนามประเทศไทยไม่ให้มีสินค้าที่เกิดจากการทำประมงผิดกฎหมาย