HIGHLIGHTS
- ไทยรับไม้ต่อการเป็นประธานสมาคมอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ในปีนี้ ท่ามกลางความท้าทายในครึ่งศตวรรษใหม่ของสมาคมฯ ที่ต้องรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทางไซเบอร์และปัญหาโลกร้อน
- นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พูดถึงบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียนว่า จะมีการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)’
ปี 2562 เป็นปีสำคัญที่ไทยได้เป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตามวาระ ในขณะที่สมาคมฯ กำลังก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 52 ท่ามกลางความท้าทายที่มากขึ้นในโลกยุคดิจิทัล โดยเฉพาะปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ถึงการเตรียมความพร้อมของไทย และบทบาทที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนการผลักดันวาระพิเศษระหว่างที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในทุกระดับตลอดทั้งปีนี้
อธิบดีกรมสารนิเทศเล่าถึงภูมิหลังก่อนว่า ตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยเป็นวาระที่หมุนเวียนมาบรรจบในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการสลับกันทุกปีระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศ โดยเรียงตามลำดับอักษรตัวแรก ปีที่แล้วเป็นสิงคโปร์ ปีนี้จึงเป็นของไทย ส่วนปีหน้าก็จะเป็นเวียดนาม ส่วนระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของไทยคือ 1 ปีเต็ม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2562
แนวคิดหลักที่เราได้ประกาศไปในการเป็นประธานอาเซียนนั้นคือ ‘Advancing Partnership for Sustainability’ หรือในภาษาไทยว่า ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ ซึ่งสะท้อนสิ่งที่เราเห็นว่าจะสานต่อแนวคิดจากประธานอาเซียนปีที่ผ่านๆ มาด้วย
ประเด็นที่มีความสำคัญก็คือ ในบริบทที่ไทยเป็นประธานคราวนี้ เป็นช่วงที่อาเซียนได้พัฒนาเข้าสู่ปีที่ 52 ซึ่งเราถือว่าได้รับเกียรติที่ได้เป็นประธานในบริบทช่วงที่ 2 ของ 50 ปีถัดไปของอาเซียน
50 ปีต่อไป เราก็มองว่า ณ ขณะนี้มีความท้าทายในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และความสำคัญในการวางตัวของอาเซียนว่าจะไปในทิศทางไหน เพราะฉะนั้นพอกำหนดวิสัยทัศน์หลักนี้ขึ้นมา ก็เป็นกระบวนการหารือกันภายในของไทย และก็ได้ข้อสรุปกับแนวคิด ‘Advancing Partnership for Sustainability’ โดยเรามองว่า Sustainability คือเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนที่ครอบคลุมทุกมิติ ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มักพูดอยู่เสมอว่า เรามี Internet of Things (IoT) ตอนนี้เราพูดถึงความยั่งยืนกันเยอะ ดังนั้นจึงน่าจะมองเป็น Sustainability of Things (ความยั่งยืนของสรรพสิ่ง) หรือที่เรียกว่า SoT ด้วย
เป้าหมายความยั่งยืนก็เป็นเป้าหมายระดับระหว่างประเทศ ระดับสหประชาชาติ เป็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals เราต้องมองว่า ครอบคลุมในทุกมิติ และทุกคนมีส่วนร่วมได้
ประเด็นของ Advancing คือการมองไปในระยะต่อไป โดยก้าวไกลในที่นี้ พอเรามาดูในบริบทของเราเองจะพบว่า ยุคหนึ่งเราพูดถึงโลกาภิวัตน์ เราพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 เรื่องของ Disruptive Technologies เรื่องของยุคดิจิทัล การปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเตรียมความพร้อมว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นเป้าหมายประการหนึ่งก็คือ เราอยากเป็น ‘Digital ASEAN’ ซึ่งจะมีแพลตฟอร์ม มีความร่วมมือ แน่นอน เราต้องตระหนักว่า เรามีความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิก แต่ทุกคนก็มีส่วนร่วมในการจับมือ จูงมือไปด้วยกัน พัฒนาไปด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของทุกคนในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนสู่เป้าหมาย
มาดูเรื่อง Partnership คำตรงกลางของแนวคิดหลักในธีมนี้มีความสำคัญมาก เพราะอาเซียนเจริญเติบโตมาตลอด เราไม่ได้เป็นภูมิภาคปิด เราเปิดมาตลอด เรามีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหภาพยุโรป (EU) มาเป็นเวลากว่า 40 ปี ภายใต้บริบทของอาเซียน เพราะฉะนั้นเราเติบโตมาด้วยการพึ่งพาอาศัย การสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง และระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ
ในระดับภูมิภาค เราต้องมาเชื่อมโยงกันภายในอาเซียนด้วย ส่วนในระดับประเทศ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนก็เป็น Partnership ที่สำคัญ เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถทำทั้งหมดเองได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนวาระของอาเซียนไปด้วยกัน
Partnership ในที่นี้จึงมีเรื่องของ Connectivity (ความเชื่อมโยง) เป็นหัวใจสำคัญด้วย เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนเราเป็นประธานอาเซียนก็มีการผลักดันเรื่องความเชื่อมโยงเป็นแผนแม่บทของอาเซียน ซึ่งพูดถึงฮาร์ดแวร์ โครงสร้างพื้นฐาน พูดถึงกฎระเบียบภายในอาเซียน ทำอย่างไรจึงจะมีการขนส่งสินค้าต่างๆ ภายในเวลาอันรวดเร็วที่สุด และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ แต่หัวใจสำคัญคือ การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน (Mobility) ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเชื่อมโยง เพราะเราอยากเห็น Seamless ASEAN หรืออาเซียนที่ไร้รอยต่อ ทั้งในบริบทของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) บริบทของการมีเครื่องมือเครื่องไม้ที่สามารถรองรับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงด้วยก็คือ ในบริบทของอาเซียนนั้น ไทยมีธุรกิจ SMEs จำนวนมาก ซึ่งเราจะดูแลอย่างไร ตรงนี้ก็เป็นความท้าทายเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป้าหมายหลักของเราคือ ความยั่งยืน เพราะฉะนั้นการจะพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมากเท่าใด เทคโนโลยีจะทันสมัยมากเพียงใด ก็ต้องกลับมาดูโจทย์ใหญ่ว่าโลกเรากำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือภาวะโลกร้อน ถ้าเราอยากจะพัฒนาอย่างก้าวไกล เราก็ต้องมาดูเรื่อง Green Growth หรือเศรษฐกิจสีเขียว ดูว่าทำอย่างไรจึงจะให้เกิดการตระหนักรู้ ทำอย่างไรที่จะเกิดการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่คำนึงถึงการอนุรักษ์โลก ซึ่งถือเป็นกรอบแนวคิดหลักที่เราเสนอ
แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับจากชาติสมาชิกทุกประเทศ โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ไปประกาศธีมนี้เมื่อตอนรับช่วงการเป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งพอถึงการประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 17-18 มกราคมที่ผ่านมา เราได้นำเสนอประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ หรือที่เรียกว่า Priority of the Chairman ซึ่งก็มีเรื่องธีม เรื่องวาระที่จะผลักดันว่าจะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนไปในทุกมิติอย่างไร เราต้องทำอะไร และรับมือกับความท้าทายอย่างไร
เรื่องที่เราต้องการผลักดันมากที่สุดคือ การทำให้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) สำเร็จลุล่วงภายในปีนี้ เพราะเป็นความตกลงที่เกิดจากข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับบางประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย รวม 6 ประเทศ
แต่ทำไมถึงต้องทำให้สำเร็จ ก็เพราะว่าตลาด RCEP จะรองรับประชากร 3.5 – 3.6 พันล้านคน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก เมื่อมาดูที่ศักยภาพของคนจะพบว่า อาเซียนมีประชากร 650 ล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนวัยทำงาน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงญี่ปุ่นและสิงคโปร์ด้วยก็คือ สังคมประชากรสูงวัย ซึ่งกลายเป็นโจทย์ว่า เราจะทำให้คนกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในสังคมได้อย่างไร ด้วยประสบการณ์และความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่
เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาอาเซียนจึงต้องมีลักษณะ Inclusive ต้องครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดเสมอว่า จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
กับคำถามว่า ต้องทำอะไรต่อไปในการเป็นประธานอาเซียนนั้น ตลอดทั้งปีนี้จะมีการประชุมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในระดับต่างๆ เพราะเรามี 3 เสาหลักอาเซียน ได้แก่ ด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ซึ่งในแต่ละเสาจะมีรายสาขาย่อย อย่างการเมืองก็จะมีเรื่องของการทหาร เรื่องของกฎหมาย เรื่องของการรับมือกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ ส่วนเศรษฐกิจก็จะแตกย่อยไปอีกเช่นกัน
เพราะฉะนั้นเราดูแล้วว่า ตลอดทั้งปีจะมีการจัดประชุมกว่า 180 ครั้งทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับคณะทำงานไปจนถึงระดับผู้นำ (Summit) โดยระดับผู้นำก็จัด 2 หน รอบแรกเป็นซัมมิตระหว่างผู้นำทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน ส่วนกำหนดการประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย รวมถึงประเทศที่ท่านนายกรัฐมนตรีไปเชิญไว้ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีนั้น จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี ประมาณเดือนพฤศจิกายน
แต่ระหว่างนั้นก็จะมีการประชุมย่อยต่อเนื่องตลอดทั้งปีในระดับรัฐมนตรี เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ดูแลในเรื่องขยะทะเลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 โดยเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการประชุมที่เกี่ยวเนื่องกับการที่เราถูกปลดใบเหลือง ซึ่งเราก็อยากนำเสนอแนวคิด ประสบการณ์ที่สามารถแบ่งปันกับอาเซียน เรามีแนวคิดที่จะจัดทำเวิร์กช็อปให้เกิดการจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN IUU Task Force เพื่อเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่ยังติดสถานะใบแดงในภาคการประมงอยู่
นอกจากนี้จะมีประเด็นการรับมือกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยในเดือนเมษายน กระทรวงการคลังก็จะการประชุมระดับรัฐมนตรีคลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เรามีกิจกรรมตลอดทั้งปี บทบาทของเราก็คือ มีหน้าที่เป็นประธานประสานผลประโยชน์ของฝั่งอาเซียน และประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกกับประเทศที่เราติดต่อหรือมีความสัมพันธ์ด้วย เพื่อให้ความร่วมมือนั้นมีความก้าวหน้า มีความต่อเนื่อง และต้องอธิบายได้ว่า ประชาชนได้ประโยชน์อะไรด้วย
มาตรการแก้ปัญหาโลกร้อนสู่คอนเซปต์ Green Meeting
ในกรอบที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น จะมีกรอบการประชุมของรัฐมนตรีทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไล่ตั้งแต่การประชุมระดับคณะทำงานต่างๆ ซึ่งในส่วนของไทยมีการจัดประชุมที่เชียงใหม่ โดยรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดที่ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก นั่นก็คือการออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับท่าทีของอาเซียนในเวทีการประชุม Climate Change ของโลกในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วม
ในส่วนของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับมลพิษนั้น เนื่องจากมลพิษไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ในไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศก็กำลังเผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน ในส่วนของไทยก็มีการดำเนินมาตรการภายในประเทศ โดยที่ผ่านมายังไม่มีการระดมความร่วมมือระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง แต่ทุกประเทศรู้ว่ามีวิธีการหรือแนวทางที่จะแก้ไขอย่างไร ตามพันธกรณีที่เราไปร่วมประชุมภายใต้กรอบ Climate Change
สิ่งที่มีการพูดกันก็คือ หมอกควันที่มาทุกปี เช่น ควันจากไฟป่าที่อินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนของไทย ก็มีปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ซึ่งพัดพามาจากเมียนมา ตรงนี้เราก็มีกลไกที่จะดำเนินการเพื่อลดปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว
คอนเซปต์ Green Meeting มาจากการที่เราเห็นว่ากระแสโลกกำลังมุ่งไปในทิศทางนั้น ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือ ลงมือปฏิบัติให้เห็น อย่างสิ่งที่เราได้จาก Green Meeting ก็คือการสร้างการรับรู้ในสังคม ให้ผู้คนเห็นว่าเป็นเรื่องที่จริงจังนะ เราทุกคนต้องมีส่วนช่วย หรือร่วมมือกันดำเนินการเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการรณรงค์กันในรูปแบบต่างๆ
หากจะขยายคอนเซปต์ ‘Green Meeting’ ก็คือใช้หลักสากล Reduce Reuse และ Recycle ยกตัวอย่างการประชุมที่เชียงใหม่เมื่อต้นปี ก็มีการใช้ขวดน้ำที่ทำจากวัสดุอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงของที่ระลึกที่มอบให้ผู้นำหรือสื่อมวลชนที่มาร่วมงาน เราก็คำนึงถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ หรือเอกสารกระดาษก็ทำแจกน้อยลง แต่จะจัดส่งทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลแทน ส่วนเก้าอี้และโพเดียมที่รัฐมนตรีใช้ เราก็ได้รับการอนุเคราะห์จากบริษัทเอกชน เช่น SCG ที่นำมามอบให้ พอประชุมเสร็จ รัฐมนตรีก็มอบเก้าอี้และโพเดียมเหล่านี้ให้กับโรงเรียนที่เชียงใหม่ เพื่อนำไปใช้ต่อได้ ซึ่งถือเป็นการสร้างการรับรู้ โดยเราจะใช้คอนเซปต์นี้ไปตลอดทั้งปี
ความท้าทายจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
เทคโนโลยีดิจิทัลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ มันช่วยอำนวยความสะดวกในด้านธุรกรรม การติดต่อซื้อขายสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้นในบริบทของปัจจุบัน แต่ข้อเสียของมันก็คือความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับมือเช่นกัน และเราก็ได้ผลักดันเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมอาเซียนปีนี้ด้วย
ในไทยมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD) ในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดให้สมาชิกอาเซียนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ใครอยากจะศึกษา อยากจะวิจัยอะไร ก็มาใช้สถานที่นี้ได้ ซึ่งตอนนี้กำลังดูเรื่องแผนงานกับงบประมาณกันอยู่
ศูนย์ที่ 2 เกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยกรมการแพทย์ทหารได้จัดตั้งศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center for Military Medicine: ACMM) ที่ประเทศสมาชิกสามารถใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งมีตั้งแต่ภารกิจค้นหาไปจนถึงกู้ภัย (Search and Rescue) และการปฐมพยาบาล
ส่วนศูนย์ต่อมาคือคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) เป็นคลังเก็บสิ่งของบรรเทาทุกข์ เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
ในเรื่องของการดูแลสังคมนั้น ก็มีศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ASEAN Training Centre for Social Work and Social Welfare : ATCSW) และศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI)
นอกจากนี้ยังมีศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre : AJCCBC) ด้วย
ส่วนศูนย์สุดท้ายคือ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Center) ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยปีนี้ไทยประกาศให้เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Year of Culture) ซึ่งจะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยประเทศสมาชิกสามารถมาใช้ประโยชน์จากศูนย์ฯ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะส่งเสริมให้ประเทศในอาเซียนส่งดารา นักแสดง มาร่วมกิจกรรมให้มากขึ้นด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- กระทรวงการต่างประเทศ