เหยือกใบนี้เดินทางจากอยุธยาพร้อมกับคณะทูตของโกษาปานไปยังพระราชวังแวร์ซาย ถึงจุดหมายปลายทางเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1686 เป็นเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส
ดูจากศิลปะแล้วเป็นงานจีน เช่นเดียวของบรรณาการส่วนมากนำล้วนแต่เป็นของล้ำค่าจากจีน (เครื่องเคลือบ) ญี่ปุ่น (ตู้ไม้ลงรักปิดทอง) อินเดีย (ถ้วยหยก) และเปอร์เซีย (พรม)
รวมถึงเครื่องโลหะชั้นเลิศ 80 ชิ้น หนึ่งในนั้นคือเหยือกเงินกะไหล่ทองศิลปะจีนอันงามวิจิตร
ของล้ำค่าหลายร้อยชิ้นจากสยาม ใช้เวลานานถึง 4 วันกว่าจะจัดเสร็จ คัดมาอย่างดีตามบัญชาสมเด็จพระนารายณ์แห่งอยุธยาเพื่อถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสกับพระคาร์ดินัล และกรมหลวงโยธาเทพทรงจัดถวายองค์รัชทายาท กับดยุคแห่งบูร์กอญและอังชู
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ของล้ำค่าเริ่มกระจัดกระจายไปตามวังเล็กวังน้อย มีเครื่องโลหะ 80 ชิ้นในที่สุดเหลือเพียงชิ้นเดียว คือเหยือกเงินใบนี้
มันเป็นเหยือกเก้าชีวิต เพราะเดินทางจากอยุธยาข้ามทวีปมาถึงแวร์ซาย และอยู่ที่นั่นผ่านไป 3 รัชกาลโดยไม่ถูกโยกย้ายไปไหน
ในช่วงเวลานั้น ฝรั่งเศสเผชิญกับวิกฤตการเงินหลายครั้ง มีบัญชากษัตริย์ให้นำเครื่องเงินไปหลอมถึง 2 ครั้งคือปี 1689 และปี 1709 เหยือกนี้ก็รอดหายนะมาได้
ต่อมาเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เครื่องเงินในวังถูกพวกปฏิวัตินำมาหลอมเป็นเงินบริสุทธิ์ในปี 1793 มันก็ยังรอดมาได้อีก
จนกระทั่งมันถูกคณะปฏิวัตินำสมบัติหลวงออกมาเลหลังขายรอบสุดท้ายในปี 1797 เจ้าของคนต่อมาคือครอบครัว Terray (ซึ่งเคยเป็นขุนคลังของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) ต่อมามันยังเปลี่ยนเจ้าของอีกหลายครั้ง เรารู้ว่าน่าจะผ่านมืออีก 2 รายเพราะมีรอยตอกตัวเลขปีไว้ คือ 1809 กับ 1819 หลังจากก็ผ่านมือใครต่อใครมาเรื่อยๆ
เหยือกจากสยามเร่ร่อนจากแวร์ซายไปนานนับร้อยปี
จนกระทั่งปี 2018 จากการสนับสนุนด้านการเงินโดย Moët Hennesy Louis Vuitton พิพิธภัณฑ์พระราชวังจึงสามารถครอบครองมันได้ในราคา 1,000,000 ยูโร เหยือกของทูตสยามกลับบ้านเดิมของมันในที่สุด
สภาพของมันตอนแรกพบนั้นสนิมขึ้นจนดำเมี่ยม ดูสภาพแล้วไม่น่ารอดการทำลายมาได้ แต่ช่างมือดีคืนชีวิตให้กับมันจนเผยเนื้อเงินสุกปลั่งดังที่เห็น จึงรู้ว่ามันล้ำค่าเพียงใด
เอกสารทางการระบุว่า เหยือกใบนี้คือสมบัติของชาติ (trésor national) รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมฝรั่งเศส กล่าวว่า เครื่องราชบรรณาการจากสยามจำนวนมากมายหายไปจนเกือบหมด นี่ถือเป็นโชคดีที่หาได้ยากที่ยังเหลือเหยือกใบนี้ไว้ ทั้งยังเป็นพยานแห่งสัมพันธไมตรีครั้งสุดท้ายของสยามกับฝรั่งเศส และบอกเล่าการผจญภัยอันน่าตื่นเต้นของสมบัติจากคลังหลวง
ข้อมูลจาก : FB คุณกรกิจ ดิษฐาน – Post Today (Kornkit Disthan)
http://www.chateauversailles.fr/actualites/vie-domaine/acquisition-verseuse-argent?fbclid=IwAR1xQuxamKY1auD8gLpVKPUgP1mdFDiK8VbuyqdMdkFhQHF_7MQtKlUXFtU#la-verseuse