สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.วันที่ 10 มี.ค. 2563 (สถานะเวลา 15.00 น.) ฝรั่งเศสมียอดผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส covid-19 สะสม จำนวน 1,784 ราย (เพิ่มขึ้น 372 ราย) มีอาการหนัก 86 ราย และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 33 ราย (เพิ่มขึ้น 8 ราย เป็นผู้ชาย 19 ราย ผู้หญิง 14 ราย โดยผู้เสียชีวิต 23 รายมีอายุมากกว่า 75 ปี หรือมีโรคแทรกซ้อน) และยังคงระดับการแพร่ระบาดไวรัสที่ระดับ 2 โดยแคว้นที่มีผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ Corse, Grand Est, Bourgogne Franche-Comté, les Hauts de France, Île de France, Auvergne Rhône-Alpes
2.เมื่อช่วงค่ำวันที่ 10 มี.ค. 2563 ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้แถลงต่อสื่อมวลชน หลังการประชุมวิดีโอ conference กับผู้นำประเทศสมาขิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ พร้อมทั้ง ปธ. คณะกรรมาธิการยุโรปและ ปธ. ธนาคารกลางยุโรป กรณีวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ว่า สหภาพยุโรปได้ตกลงร่วมกันดำเนินการทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ดังนี้
2.1 ด้านสาธารณสุข
– จะมีการประสานงานที่ดีขึ้นระหว่าง รมต. สธ. ของทุกประเทศและคณะกรรมาธิการยุโรป โดยจะมีการหารือแบ่งปันข้อมูลรายวันเกี่ยวกับจำนวนสถิติผู้ป่วยติดเชื้อและมาตรการของแต่ละประเทศ
– การบริหารจัดการสต็อกหน้ากากอนามัยและเครื่องช่วยหายใจให้มีอย่างเพียงพอและทั่วถึงในยุโรป
– การตัดสินใจมาตรการต่างๆ ของฝ่ายการเมืองจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
– ให้งบประมาณ 100 ล้านยูโรเพื่อเร่งการวิจัยหายารักษาและวัคซีนต้านไวรัส covid-19
2.2 ด้านเศรษฐกิจ
– ฝรั่งเศสได้มีมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้วและจะมีมาตรการอื่นๆ ต่อไป โดยได้มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเอกชนสาขาการบิน การท่องเที่ยวและการค้า
– ในระดับสหภาพยุโรป ขอให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในการผ่อนปรนกฎบางประการ อาทิ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือของรัฐต่อภาคเอกชน/ ข้อจำกัดทางงบประมาณ/ และกฎเกี่ยวกับ slots การบิน
ทั้งนี้ ปธน. ฝศ. แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการปิดชายแดนของออสเตรียและสโลเวเนียต่ออิตาลี
3. อธิบดีกรมสาธารณสุขฝรั่งเศสขอให้ผู้ที่มีอาการป่วยหยุดงานและพักที่บ้าน ถึงแม้มีอาการเพียงเล็กน้อย และตามที่ได้อนุญาตให้ห้อง lab เอกชนสามารถตรวจผลการติดเชื้อไวรัส covid-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2563 (ก่อนหน้านี้สามารถกระทำได้ที่ รพ. รัฐเท่านั้น) นั้น กำลังสั่งการให้มีการส่ง จนท. ไปเก็บตัวอย่างที่ที่พักเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อผู้อื่น
4.การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจด้านคมนาคม (รถบัส รถไฟและเครื่องบิน)โดยสำหรับสายการบิน Air France มีผู้สำรองบัตรโดยสารลดลงร้อยละ 70 และบางเที่ยวบินมีผู้โดยสารเพียงร้อยละ 30-50 คาดว่าสูญเสียรายได้อย่างน้อย 200 ล้านยูโร และสำหรับเที่ยวบินไปอิตาลี นั้น ปัจจุบัน Air France ยังคงเที่ยวบินวันละ 1 เที่ยว สำหรับแต่ละเมืองที่ทำการบินในปัจจุบันเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเตรียมตัวได้ก่อนที่จะทำการระงับเที่ยวบินไปอิตาลี ระหว่างวันที่ 14 มี.ค. -3 เม.ย.2563
5. กิจกรรมสันทนาการ วัฒนธรรม และกีฬาในฝรั่งเศส ได้รับผลกระทบหลายรายการ เช่น คอนเสิร์ตมาดอนน่าที่กรุงปารีสในวันที่ 10 และ 11 มี.ค. ถูกยกเลิก และฟุตบอลระดับ Ligue 1 และ Ligue 2 ทุกคู่ถูกสั่งให้แข่งแบบไม่มีคนดูในสนามจนถึง 15 เม.ย. นี้ เป็นต้น
6. รมว.เศรษฐกิจการคลังฝรั่งเศสได้แถลงว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 โดยจะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 ต่ำกว่าร้อยละ 1 และจะส่งผลต่อการจ้างงานในฝรั่งเศสด้วย จึงขอให้สังคมแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกัน อาทิ ขอให้ผู้ให้เช่าอาคารพาณิชย์ผ่อนปรนการเก็บค่าเช่า และเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนกฎของอียูซึ่งกำหนดให้สายการบินต้องทำการบินอย่างน้อยร้อยละ 80 เพื่อรักษา time slot ของการบินไว้ เนื่องจากปัจจุบันมีสายการบินที่ได้บินเครื่องบินเปล่าเพียงเพื่อมิให้เสียโควต้า time slot และได้ประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อภาคเอกชนฝรั่งเศส ดังนี้
– ขยายระยะเวลาการชำระค่าเงินสมทบประกันสังคมและหรือภาษี
– ในกรณีที่บริษัทประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อาจได้รับการพิจารณาคืนเงินภาษีเป็นรายกรณี
– รัฐบาลและธนาคารแห่งชาติจะช่วยเจรจาต่อรองการผ่อนชำระงวดเงินกู้กับธนาคารผู้ให้กู้เงิน
– ธนาคาร Bpifrance (ธนาคารการลงทุนของรัฐ) พร้อมให้กู้ยืมเงินระยะสั้นแก่วิสาหกิจ
– การลดขั้นตอนการอนุญาตให้พนักงานพักงานโดยยังได้รับเงินชดเชยอยู่ เพื่อป้องกันการปลดพนักงานออก
– ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับลูกค้า
-ในส่วนของบริษัทเอกชนที่ทำสัญญากับภาครัฐ รัฐบาลถือว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 เป็นกรณี force majeure ดังนั้น บริษัทจะไม่ถูกคิดค่าปรับกรณีส่งงาน/ให้บริการล่าช้า