สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.วันเสาร์ที่ 28 มี.ค. 2563 (สถานะเวลา 14.00 น.)
– ยอดผู้ป่วยสะสม จำนวน 37,575 ราย (เพิ่มขึ้น 4,611 ราย) ซึ่งเป็นข้อมูลจากการตรวจ Test PCR
– รักษาอยู่ที่ รพ. 17,620 ราย และรักษาหายออกจาก รพ.แล้ว 6,624 ราย
– อาการหนัก 4,273 ราย
– เสียชีวิต 2,314 ราย (เพิ่มขึ้น 319 ราย)
แคว้นที่มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่ รพ. มากที่สุด ได้แก่ l’Île-de-France (6,523 ราย โดย 1,570 รายมีอาการหนัก) Grand Est (3,525 ราย โดย 756 รายมีอาการหนัก) และ Auvergne-Rhône-Alpes (1,904 ราย โดย 432 รายมีอาการหนัก)
2. เมื่อค่ำวันที่ 28 มี.ค.2563 นายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุขฝรั่งเศส ได้แถลงผลการดำเนินการตามมาตรการในป้องกันและชะลอการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 โดยมีนายแพทย์/ผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ข้อมูลด้วย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 นรม.กล่าวว่า ฝรั่งเศสกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุด โดยเป็นครั้งแรกที่ต้องบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พัก ขณะนี้ได้กลายเป็นวิกฤติระดับโลกแล้ว กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกถูกห้ามออกจากที่พัก แต่การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ เพิ่งจะเริ่มขึ้นเท่านั้น โดยสถานการณ์จะหนักขึ้นอีกในช่วง 15 วันแรกของเดือน เม.ย.
ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันต่อสู้วิกฤติในครั้งนี้ โดยด่านแรกคือบุคลากรทางการแพทย์ ด่านถัดไปคือผู้ที่ทำให้ประเทศยังเดินหน้าไปได้ อาทิ ตร. พนักงานดับเพลิง ครู เกษตรกร พนักงานขนส่ง พนักงานเก็บขยะ แคชเชียร์ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ และกลุ่มสุดท้าย คือความร่วมมือของ ประชาชนทุกคนในการไม่ออกจากที่พัก
ประสงค์อธิบายการตัดสินใจของรัฐบาล ยุทธศาสตร์และข้อจำกัดต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบอย่างโปร่งใส และพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจเมื่อผ่านพ้นวิกฤติแล้ว
2.2 หน. แผนกโรคติดเชื้อ รพ. Saint Antoine กรุงปารีส อธิบายเกี่ยวกับไวรัส covid-19 พร้อมทั้งอาการติดเชื้อว่าเป็นไวรัสอันตรายเนื่องจากสามารถติดต่อกันได้ง่าย (ผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถแพร่เชื้อแก่ 2-3 คน) และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ก่อนมีอาการ โดยร้อยละ 15 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วยหนัก และร้อยละ 5 ต้องได้รับการรักษาด้วยเครื่องช่วยหายใจ อีกทั้ง ยังไม่ทราบถึงอัตราการเสียชีวิตที่แท้จริงจากเชื้อไวรัสนี้ และพบว่าร้อยละ 96 ของผู้เสียชีวิตอายุมากกว่า 60 ปี นอกจากนั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสามารถติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ได้หรือไม่ถึงแม้ว่าจะพบร่องรอยของไวรัสบนสิ่งของต่าง ๆ ก็ตาม และ นรม.ได้กล่าวเสริมว่า Covid-19 เป็นไวรัสที่มีอัตราการแพร่ระบาดที่สูงมาก ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวในทุก ๆ 3-4 วัน
2.3 อธิบดีกรมสาธารณสุขอธิบายที่มาของตัวเลขสถิติต่าง ๆ ที่แถลงประจำวันว่ามาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) Test PCR positive (2) รพ. มากกว่า 600 แห่งให้ข้อมูลของผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว รวมทั้งจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตที่ รพ. และ (3) แพทย์อิสระและแพทย์ฉุกเฉินและ lab เอกชน (สัปดาห์ที่แล้วรวบรวมได้ประมาณ 44,000 ราย) สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิต นั้น นอกจากสถิติจาก รพ. แล้ว จะได้เริ่มนับรวมสถิติจากผู้เสียชีวิตที่ได้รับจากบ้านพักคนชราด้วย รวมทั้ง ตรวจสอบกับการออกทะเบียนมรณบัตร ทั้งนี้ สามารถเข้าถึงข้อมูลสถิติต่าง ๆ โดยละเอียดได้ที่ gouvernement.fr โดยจะมีการ update ทุกวัน
2.4 นรม. กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด ได้แก่ การชะลอการแพร่ระบาดและเพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาล โดยก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสมีเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่มีเครื่องช่วยพยุงชีพประมาณ 5,000 เตียง รัฐบาลจึงได้พยายามเพิ่มเตียงประเภทนี้ใน รพ.ต่าง ๆ และได้พยายามชะลอการติดเชื้อไวรัสโดยคนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน เพื่อป้องกันมิให้มีผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องได้รับการรักษาด้วยเครื่องช่วยพยุงชีพมากเกินความสามารถดูแลได้ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอาการหนักจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากไปยังพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อยกว่าด้วย
2.5 นพ. Arnaud Fontanet สถาบัน Pasteur อธิบายถึงความสำคัญของมาตรการห้ามออกจากที่พัก ร่วมกับแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด (ไม่จับมือ ไอ/จามในข้อพับศอก ล้างมือบ่อย ๆ ใช้กระดาษทิชชู่แบบใช้แล้วทิ้ง) ซึ่งจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสได้อย่างมาก โดยประสงค์ให้ลดอัตราการแพร่เขื้อจาก 1 ต่อ 3 คนเป็น 1 ต่อ 1 หรือน้อยกว่า 1 และคาดว่าจะสามารถเริ่มเห็นผลของมาตรการห้ามออกจากที่พักได้ประมาณช่วงปลายสัปดาห์หน้า
2.6 นรม. แจ้งว่าตามที่ได้ประกาศขยายเวลาบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พักไปจนถึงวันที่ 15 เม.ย. เป็นอย่างน้อย นั้น รัฐบาลจะประเมินสถานการณ์ในช่วงปลายสัปดาห์หน้าอีกครั้งหนึ่ง โดยจะพิจารณาจากสถิติจำนวนผู้ป่วยอาการหนักรายวัน
2.7 รมว. สาธารณสุขชี้แจงถึงการเพิ่มศักยภาพในการรับผู้ป่วยของ รพ. ว่า ได้เตรียมการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตั้งแต่ก่อนเริ่มวิกฤติ โดยการประกาศใช้ “Plan Blanc” เรียกให้ จนท. ที่พัก/ลางานกลับมาปฏิบติหน้าที่ใน รพ. อย่างเต็มกำลัง รวมทั้งยกเลิก/เลื่อนการผ่าตัดและการรักษาที่ไม่เร่งด่วน และได้เตรียมความพร้อมให้มี รพ. อย่างน้อย 1 แห่งในแต่ละ จ. เพื่อรับมือกับผู้ป่วยไวรัส covid 19 นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งใน รพ. รัฐและเอกชน
ความท้าทายในปัจจุบัน คือการช่วยชีวิตผู้ป่วยอาการหนัก ปัจจุบัน มีเตียงที่มีเครื่องช่วยพยุงชีพจำนวน 10,000 เตียง และจะพยายามเพิ่มให้ได้ถึง 14,000 – 14,500 เตียง ซึ่งต้องมีบุคลากรและอุปกรณ์ที่เพียงพอด้วย ในการนี้ รัฐบาลได้รวบรวมเครื่องช่วยหายใจทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศและได้สั่งผลิตเพิ่มโดย บ. Air liquide อีก 1,000 เครื่อง และได้รับเครื่องช่วยหายใจจากเยอรมนีอีก 25 เครื่อง
เกี่ยวกับยาที่ใช้ในการรักษา นั้น รัฐบาลได้พยายามจัดหาให้ตามความต้องการของ รพ. ซึ่งปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2,000 และสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง ปัจจุบัน มีอาสาสมัครสาธารณสุข (Réserve sanitaire) ถึง 40,000 คน และมีระบบการให้ความช่วยเหลือระหว่าง รพ. (renforts-covid.fr) ด้วย
2.8 นรม. กล่าวว่ามีความกังวลต่อสถานการณ์ของกลุ่มผู้สูงวัยและความยากลำบากในการหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาที่มีความจำเป็นต่อการรักษาอาการติดเชื้อจากโรคไวรัสนี้ และโดยที่ไม่มีระบบสาธารณสุขของประเทศใดในโลกนี้ที่ได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน จึงมีความจำเป็นสรรหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาเพื่อรักษาอาการจากโรคไวรัสชนิดนี้ในห้วงเวลาเดียวกัน
รมว.สาธารณสุขกล่าวถึงความจำเป็นต้องป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยฝรั่งเศสมีบ้านพักคนชราจำนวนประมาณ 7,000 แห่ง ซึ่งมีผู้สูงอายุทั้งหมดประมาณ 7 แสนคน ในการนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผน “Plan Bleu” ห้ามการเยี่ยมใด ๆ ที่บ้านพักคนชรา ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2563 และได้พยายามตอบสนองความต้องการหน้ากากอนามัยจำนวน 5 แสนชิ้นต่อวันให้แก่บ้านพักคนชรา นอกจากนี้ จะขอให้มีการแยกผู้สูงวัยแต่ละรายในห้องพักของตน และจะหาวิธีให้ จนท. ที่ปฏิบัติหน้าที่ในบ้านพักคนชราไม่ต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลเพื่อมาปฏิบัติงาน
2.9 นรม. สรุปสถานการณ์ในดินแดน/เขตแดนโพ้นทะเลว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจให้บังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พักในพื้นที่เหล่านี้พร้อมกันกับ ฝศ. Metropolitan ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการแพร่ระบาดในระยะที่ 3 ก็ตาม และได้มีมาตรการห้ามเดินทางเข้าไปยังพื้นที่เหล่านี้ อีกทั้งได้ขอให้ผู้ว่าราชการ จ. มีมาตรการที่เข้มงวดกว่าได้ตามความจำเป็นของพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลได้เพิ่มจำนวนเตียงที่มีเครื่องช่วยพยุงชีพในพื้นที่เหล่านี้ ดังนี้ Les Antilles จาก 81 เตียง เป็น 169 เตียง, Mayotte จาก 16 เตียง เป็น 50 เตียง, Guyane จาก 29 เตียง เป็น 40 เตียง, La Réunion จาก 111 เตียง เป็น 161 เตียง นอกจากนี้ จะให้แพทย์ที่ได้ปริญญานอกอียูสามารถทำการรักษาได้ด้วยตั้งแต่สัปดาห์หน้า
2.10 รมว. สาธารณสุขได้แจ้งแนวทางป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ว่า ปัจจุบันมีการใช้หน้ากาก 40 ล้านชิ้น/สัปดาห์ โดยมีสต็อกที่ รบ. เรียกเก็บมา จำนวน 120 ล้านชิ้น ซึ่งฝรั่งเศสมีกำลังผลิต 40 ล้านชิ้น/เดือน และได้สั่งหน้ากากเพิ่มเติมอีก 1 พันล้านชิ้นจากจีน เป็นหน้ากากประเภท FFP2 จำนวน 74 ล้านชิ้น ซึ่งจะต้องขนส่งโดยเที่ยวบินระหว่างฝรั่งเศส-จีน จำนวน 56 เที่ยว โดยจีนจะรวบรวมหน้ากากที่ผลิตได้ทั้งหมดที่เมือง Shenzhen และนครเซี่ยงไฮ้ ก่อนจัดส่งมายังฝรั่งเศสภายใน 48 ชม. และเมื่อได้รับหน้ากากเหล่านี้แล้ว ฝรั่งเศสจะจัดเก็บหน้ากากไว้ที่โกดังต่าง ๆ ได้แก่ เมือง Marolles (จ. Loir-et-Cher), เมือง Blanquefort (จ. Gironde), เมือง Vatry (จ. Marne), เมือง Longueau (จ. Somme), เมือง Allauch (จ. Bouches-du-Rhône) และเมือง Champonnay (จ. Rhône)
นอกจากนั้น ได้อนุญาตให้ใช้หน้ากากที่เพิ่งหมดอายุไม่นานมานี้ แต่ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ อีกถึง 60 ล้านชิ้น ขณะที่บริษัทฝรั่งเศส 24 แห่ง ได้คิดค้นวิธีการผลิตหน้ากากจากวัสดุอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งสามารถผลิตได้วันละ 5 แสนชิ้นและจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ถึง 1 ล้านชิ้นต่อวัน
2.11 รมว. สาธารณสุขกล่าวถึงการ Test และยารักษา ว่า ได้ปรับยุทธศาสตร์ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ Test จำนวนคนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อจะเลิกใช้มาตรการห้ามออกจากที่พัก ปัจจุบัน ได้ทำการ Test 12,000 ครั้ง/วัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มเป็น 30,000 ครั้ง/วันได้ในอีกหนึ่งสัปดาห์ และ 50,000 ครั้ง/วัน ปลาย เม.ย.และได้สั่งซื้อ quick test จำนวน 5 ล้านชิ้น ซึ่งเป็น Test ที่น่าเขื่อถือได้ และจะทำให้สามารถตรวจสอบการติดเชื้อเพิ่มได้ถึงอีกวันละ 1 แสนคนในเดือน มิ.ย. โดยหวังว่าจะพัฒนา Test ตรวจหาภูมิคุ้มกันได้ในเร็ว ๆ นี้ และสำหรับยารักษานั้น ปัจจุบัน กำลังเร่งการทดลองตัวยารักษาต่าง ๆ
2.12 นรม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันผลกระทบทาง ศก.ว่า ประกอบด้วย
– การช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือต่าง ๆ
– การพักงานชั่วคราวโดยยังได้รับเงินเดือน
– การลาป่วยโดยไม่ถูกหักเงินในวันแรก
– หลักการ “ไม่มีรายได้ ก็ไม่ต้องมีรายจ่าย” กล่าวคือ การระงับการชำระภาษีและเงินสมทบประกันสังคม
– การประกันเงินกู้โดยรัฐบาลรวม 3 แสนล้านยูโร
ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะตอบคำถามทุกวันอังคารและวันพุธต่อสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ
3. เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2563ได้มีการจัดการประชุม ครม. นัดพิเศษเพื่อให้ความเห็นชอบต่อ พรก. เพิ่มเติมอีก 5 ฉบับในบริบทของภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ได้แก่
(1) การแก้ไขระยะเวลาของกระบวนการการดำเนินการต่อข้อพิพาทกรณี บ. มีปัญหาในการประกอบกิจการ อาทิ การขยายระยะเวลาที่คู่ความสามารถตกลงกันได้จนถึง 3 เดือนหลังสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข
(2) ขยายการพักงานชั่วคราวโดยยังได้รับเงินเดือนอยู่ (chômage partiel) ให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างที่ทำงานตามบ้านพัก ผู้ดูแลเด็ก ลูกจ้างตามฤดูกาลและลูกจ้าง บ. ต่างชาติซึ่งทำงานใน ฝศ. แต่ บ. ไม่มี สนง. ใน ฝรั่งเศส
(3) การแก้ไขกฎเกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบของหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานอิสระ รวมทั้งสหภาพแรงงาน ให้สามารถลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้และให้ต่ออายุกรรมการหรือสมาชิกขององค์กรต่าง ๆ ออกไปพลางก่อนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 และหากต้องมีการเลือกตั้งกรรมการหรือสมาชิกใหม่ ให้ต่ออายุไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2563 เพื่อให้มีความต่อเนื่องของการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะมี พรก. แยกอีกฉบับหนึ่งสำหรับองค์กรท้องถิ่นต่อไป
(4) อนุญาตให้ปรับวิธีการสอบและการประเมินผลการจบการศึกษามัธยมปลาย (Baccalauréat) และการศึกษาระดับสูง และสำหรับการสอบแข่งขันเข้ารับราชการ อนุญาตให้บรรจุเป็น ขรก. ผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สอบผ่านจากการสอบแข่งขันคราวก่อนหน้านี้ได้
(5) การให้เงินช่วยเหลือเจ้าของลิขสิทธิ์และสิทธิ์ข้างเคียง (ศิลปินและผู้ประพันธ์) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสาธารณสุข รวมทั้งจากมาตรการห้ามออกจากที่พัก โดยหน่วยงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการให้เงินข้างต้นได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563