สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.วันอาทิตย์ที่ 29 มี.ค. 2563 (สถานะเวลา 14.00 น.)
– ยอดผู้ป่วยสะสม จำนวน 40,174 ราย (เพิ่มขึ้น 2,599 ราย) ซึ่งเป็นข้อมูลจากการตรวจ Test PCR
– รักษาอยู่ที่ รพ. 19,354 ราย (เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10) และรักษาหายออกจาก รพ.แล้ว 7,132 ราย
– อาการหนัก 4,632 ราย (เพิ่มขึ้น 359 ราย ร้อยละ 34 ของผู้ป่วยอาการหนักอายุน้อยกว่า 60 ปี โดย 60 ราย อายุน้อยกว่า 30 ปี และร้อยละ 64 อายุระหว่าง 60 – 80 ปี) ซึ่งสถิติของผู้ป่วยอาการหนักจะเป็นปัจจัยหลักในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการห้ามออกจากที่พักและการพิจารณาปรับยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ
– เสียชีวิต 2,606 ราย (เพิ่มขึ้น 292 ราย)
พบว่าอัตราผู้เสียชีวิตในฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 16 – 22 มี.ค.2563 เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติร้อยละ 9 โดยพบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติใน 5 แคว้น ได้แก่ Grand Est, Hauts de France, Bourgogne Franche-Comté, Île de France, และ Corse โดยเป็นกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี
2. อธิบดีกรมสาธารณสุขฝรั่งเศสได้กล่าวในช่วงแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ประจำวันว่า ตามที่ฝรั่งเศสได้สั่งซื้อหน้ากากอนามัยจำนวน 1 พันล้านชิ้นจากจีน นั้น จะมีการจัดส่งมายังฝรั่งเศสสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นเวลา 14 สัปดาห์ โดยจะได้รับล็อตแรกในวันพรุ่งนี้ที่สนามบิน Vatry และภาคเอกชนก็ได้สั่งซื้อหน้ากากอนามัยเช่นกัน โดยมีหน้ากากอนามัยจำนวน 5 ล้านชิ้นมาถึงฝรั่งเศสแล้วที่สนามบิน CDG วันนี้
3. สถานการณ์สำคัญในฝรั่งเศส
3.1 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกกฤษฎีกา ที่ 2020-357 เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2563ปรับอัตราค่าปรับกรณีฝ่าฝืนมาตรการห้ามออกจากที่พักหรือการห้ามชุมนุมมากกว่า 100 คน ซ้ำเป็นครั้งที่สองภายใน 15 วันจากเดิม 1,500 ยูโร เป็น 200 ยูโร และหากไม่ชำระค่าปรับภายใน 45 วัน เป็น 450 ยูโร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. เป็นต้นไป ส่วนโทษค่าปรับปกติยังคงเดิม กล่าวคือ 135 ยูโร และหากกระทำความผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 4 ภายใน 30 วัน ต้องระวางโทษปรับ 3,750 ยูโร และอาจถูกจำคุกสูงสุด 6 เดือน
3.2 รมว.แรงงานฝรั่งเศสแจ้งว่า ปัจจุบัน (ณ วันที่ 27 มี.ค.) มีบริษัท จำนวน 220,000 ราย ประสงค์ใช้มาตรการพักงานพนักงานโดยยังคงให้เงินเดือน (chômage partiel) สำหรับพนักงานจำนวน 2.2 ล้านคน ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ถึง 1.64 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
3.3 รมช.คมนาคมฝรั่งเศสแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมของการปิดให้บริการของสนามบิน Orly ว่า สนามบินจะปิดให้บริการแก่เที่ยวบินพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2563 เวลา 23.30 น.โดยยังไม่มีกำหนดเปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่ง และสายการบินที่ยังคงให้บริการอยู่จะย้ายไปใช้สนามบินชาร์ล เดอโกล (CDG) แทน แต่ยังคงเปิดให้เครื่องบินของประเทศต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติภารกิจทางสาธารณสุขเข้าใช้บริการได้ (อาทิ การอพยพคนชาติกลับประเทศและการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์) โดยก่อนหน้านี้ มีเที่ยวบินที่สนามบิน Orly ลดลงถึงร้อยละ 90
3.4 เยอรมนียังคงให้ความช่วยเหลือขนย้ายผู้ป่วยจากฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รมว. กลาโหมเยอรมนีแจ้งว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค. กองทัพเยอรมันได้ส่งเครื่องบินทหาร A400M ขนย้ายผู้ป่วยอาการหนักจำนวน 2 รายจากเมือง Strasbourg ไปทำการรักษาต่อที่ รพ. ทหารเมือง Ulm ของเยอรมนี โดยปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่าฝรั่งเศสแต่มีอัตราผู้เสียชีวิตต่ำกว่ามาก (ผู้ติดเชื้อ 48,582 คน เสียชีวิต 325 คน ณ วันที่ 28 มี.ค.) และยังมีเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใช้เครื่องพยุงชีพถึง 25,000 เตียง ทั้งนี้ การที่เยอรมนีมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงน่าจะเป็นผลจากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการตรวจการติดเชื้อฯ อย่างกว้างขวาง จึงสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อและแยกตัวผู้ป่วยได้ก่อนที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
3.5 หลังจากที่รัฐบาลประกาศปิดตลาดทุกแห่งทั่วประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยผู้ว่าราชการจังหวัด (ปัจจุบัน มีการยกเว้นให้เปิดตลาดได้เพียง 65 เมือง)ผู้ประกอบการรวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าหลายรายจึงได้หันมาทำการค้าออนไลน์และบริการจัดส่งถึงที่พักมากขึ้น โดยบางเมืองได้พยายามจัดระบบและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ อาทิ กรุงปารีสได้รวบรวมรายชื่อและรายละเอียดติดต่อของร้านค้าทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการและสามารถรับออร์เดอร์ออนไลน์พร้อมสามารถให้บริการจัดส่งถึงที่พักไว้ในเว็บไซต์ของกรุงปารีส https://www.paris.fr/pages/livraison-alimentaire-a-domicile-les-commercants-parisiens-mobilises-7685 โดยเน้นให้บริการแก่กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ออกจากที่พักไม่สะดวกเนื่องด้วยเหตุผลทางสุขภาพ
และมีเว็บสั่งซื้อของสดออนไลน์และจัดส่งที่บ้าน https://www.ollca.com/paris/boutiques