สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.วันอาทิตย์ที่ 5 เม.ย.2563 (สถานะเวลา 14.00 น.)
– ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 70,478 (เพิ่มขึ้น 1,873 ราย) และที่บ้านพักคนชรา 22,361 ราย (เพิ่มขึ้น 1,013 ราย)รวมผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 92,839 ราย (เพิ่มขึ้น 2,886 ราย)
– รักษาอยู่ที่ รพ. 28,891 ราย (เพิ่มขึ้น 748 ราย) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 16,183 ราย
– อาการหนัก 6,978 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 390 ราย ร้อยละ 35 อายุน้อยกว่า 60 ปี และมี 106 รายอายุน้อยกว่า 30 ปี ทั้งนี้ มีผู้ป่วยอาการหนักที่มีอาการดีขึ้นออกจากห้อง ICU จำนวน 250 ราย
– เสียชีวิตที่ รพ. 5,889 ราย (เพิ่มขึ้น 357 ราย) และเสียชีวิตที่บ้านพักคนชรา 2,189 ราย (เพิ่มขึ้น 161 ราย) รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8,078 ราย (เพิ่มขึ้น 518 ราย)
ก.สาธารณสุขฝรั่งเศสได้อนุญาตให้ห้อง lab ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งปกติไม่ได้ทำการเวชศาสตร์ชันสูตร (พยาธิวิทยาคลินิก/ Clinical pathology หรือการวินิจฉัยโรคโดยอาศัยการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จากสิ่งที่ส่งตรวจ)แต่มีอุปกรณ์และบุคลากรเพียงพอ สามารถตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสฯ ได้ในสภาวะที่เหมาะสมโดยเฉพาะห้อง lab วิจัย ห้อง lab สัตวแพทย์ และห้อง lab ประจำจังหวัดเพื่อเพิ่มการตรวจสอบการติดเชื้อไวรัส covid-19 ให้ได้มากยิ่งขึ้น
2. สถานการณ์สำคัญในฝรั่งเศส
2.1 ความเชื่อมั่นในการแก้ไขวิกฤต : สื่อมวลชนรายงานว่า ถึงแม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งนี้ แต่คะแนนนิยมของประธานาธิบดีได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 28 (ผลการสำรวจระหว่างวันที่ 30 – 31 มี.ค.)และโพลหลายสำนักระบุว่าประธานาธิบดีมาครงได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในรอบสองปี ซึ่งคาดว่ามาจากสาเหตุที่ประชาชนต้องการผู้นำที่มีภาวะผู้นำและมีความเด็ดขาดในการแก้ไขวิกฤต ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือนโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2563 ประธานาธิบดีมาครงได้ขอให้ทุกภาคส่วนมีความสามัคคีเพื่อร่วมกันต่อสู้กับสงคราม (ด้านสาธารณสุข)ครั้งนี้โดยชูสโลแกน “France unie”เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศ และเห็นว่าผู้ที่เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นในขณะที่ยังไม่ชนะสงคราม เป็นผู้ที่ไม่มีความรับผิดชอบ โดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าได้ตัดสินใจออกมาตรการต่าง ๆ ตามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และสามารถชี้แจงการดำเนินการในแต่ละประเด็นได้อย่างค่อนข้างชัดเจน
2.2 มาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ : เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2563 รมว.เศรษฐกิจและการคลังฝรั่งเศสได้ให้สัมภาษณ์ต่อ นสพ. Le Journal du Dimancheให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะยังคงบทบาทปกป้องประชาชนโดยจะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นไม่ว่าวิกฤติจะยืดเยื้อนานเท่าใดเพื่อป้องกันมิให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย ทั้งนี้ ในช่วง 8 วันที่ผ่านมา มีบริษัทกว่า 1 แสนรายได้มีคำร้องขอให้รัฐบาลประกันการกู้เงินแล้วประมาณ 2 หมื่นล้านยูโร มีประชาชนกว่า 5 ล้านคนได้รับประโยชน์จากมาตรการพักงานโดยได้รับเงินเดือน (chômage partiel) และมีบริษัท 450,000 รายยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือของรัฐ (fonds de solidarité)โดยรัฐบาลยังสามารถหาเงินทุนกู้ยืมในตลาดการเงินได้ง่ายในอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล พร้อมทั้งได้เตรียมแผนสนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชนภายหลังสิ้นสุดวิกฤติ ทั้งในระดับประเทศและระดับอียู เพื่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมในการเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในโอกาสแรก
นอกจากนี้ ยังได้เสนอประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีถึงรายชื่อบริษัทใหญ่ 20 รายซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แต่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ และได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหาผลกระทบ อาทิ การประกันเงินกู้ การเพิ่มเงินทุน การปรับโครงสร้างหนี้ (recapitalisation) การโอนกิจการมาเป็นของรัฐ (nationalisation) เป็นการชั่วคราว ฯลฯ โดยได้ย้ำว่า บริษัทใหญ่ที่ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะต้องไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นและขอให้บริษัทใหญ่รายอื่น ๆ ลดการจ่ายเงินปันผลในปีนี้อย่างน้อย 1/3 พร้อมทั้งขอให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ ที่รัฐบาลถือหุ้น พิจารณาลดเงินเดือนของตนในช่วงนี้เนื่องจากพนักงานที่ถูกพักงานแต่ได้รับเงินเดือนก็ได้รับเงินเดือนเพียงแค่ร้อยละ 84 ของเงินเดือนสุทธิเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มี บ. Air France และ บ. Safran ได้ตอบรับแล้ว
อนึ่ง รมว.เศรษฐกิจและการคลังได้ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน การบริโภคภายในประเทศได้ลดลงอย่างมาก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลงถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่ผ่านมา
2.3 ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ : หลังจากที่ Disneyland กรุงปารีส ได้ประกาศเมื่อปลายเดือน มี.ค. ว่าจะให้พนักงานส่วนหนึ่งพักงานโดยยังได้รับเงินเดือนภายใต้ระบบ chômage partiel โดยจะจ่ายเงินเดือนอีกร้อยละ 16 ให้แก่พนักงานเพื่อให้ได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนจนถึงวันที่ 19 เม.ย. นั้น ต่อมาภายหลัง บริษัทฯ ได้ขอให้พนักงานที่มีสัญญาจ้างงานแบบมีกำหนดระยะเวลา (contrat à durée déterminée – CDD)และศิลปินและช่างเทคนิคที่มีสถานะเป็น “intermittent du spectacle” (ศิลปินและช่างเทคนิคประกอบอาชีพในวงการบันเทิง ได้แก่ โรงละคร ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ซึ่งได้รับจ้างตามความต้องการผลิตรายการและการแสดง โดยจะมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือการว่างงานหากได้ทำงานอย่างน้อย 507 ชม.ต่อปี) ตกลงยุติสัญญาว่าจ้าง และเมื่อวันที่ 3 เม.ย. บริษัทฯ ได้แจ้งสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างงานแบบฝ่ายเดียวแก่พนักงานทั้งสองประเภทดังกล่าว (จำนวน 700 และ 350 รายตามลำดับ)โดยอ้างเหตุสุดวิสัย (force majeure) ตามมาตรา L.1243-1 ของประมวล กม.แรงงานโดยพนักงานจะไม่ได้รับเงินชดเชยใด ๆ ในกรณีนี้เว้นแต่เงินชดเชยวันพักผ่อนสะสมที่ยังไม่ได้ใช้ (indemnités des congés payés) แต่บริษัทยังคงอนุญาตให้พนักงานพักอาศัยในที่อยู่ชั่วคราวที่จัดหาให้ที่สวนสนุก Disneyland ทั้งนี้ บ. Disneyland กรุงปารีส มีพนักงานทั้งหมด 17,000 คน และจ้างพนักงานแบบ CDD จำนวน 2,200 ราย และแบบ intermittent du spectacle อีก 2,000 รายในแต่ละปี