สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.สถิติวันศุกร์ที่ 10 เม.ย.2563
– ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 90,676 ราย (เพิ่มขึ้น 4,342 ราย) และที่บ้านพักคนชรา 34,193 ราย (ผู้ที่ตรวจพบการติดเชื้อ 10,502 ราย ผู้ที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อแต่มิได้ทำการตรวจสอบ 23,691 ราย) **รวมผู้ติดเชื้อสะสม 124,869 ราย (เพิ่มขึ้น 7,120 ราย)**
– รักษาอยู่ที่ รพ. 31,267 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 3,161 ราย และรักษาหายออกจาก รพ. แล้วมากกว่า 25,000 ราย
– อาการหนัก 7,004 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 431 ราย นับเป็นวันที่สองที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลง (น้อยกว่าวันก่อนหน้า 62 ราย) ผู้ป่วยอาการหนักร้อยละ 34 อายุน้อยกว่า 60 ปี และร้อยละ 61 อายุระหว่าง 60 – 80 ปี และมี 98 รายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี
– เสียชีวิตที่ รพ. 8,598 ราย (เพิ่มขึ้น 554 ราย) เสียชีวิตที่บ้านพักคนชรา 4,599 ราย (เพิ่มขึ้น 433 ราย) **รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 13,197 ราย (เพิ่มขึ้น 987 ราย)**
*หมายเหตุ : ข้อมูลบ้านพักคนชราเป็นยอดสะสม มิใช่จำนวนที่เพิ่มขึ้นภายใน 24 ชม.
อัตราผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 23 – 28 มี.ค. (สัปดาห์ที่ 13 ของปี) เพิ่มมากกว่าปกติเป็นร้อยละ 33 และในสัปดาห์ที่ 14 ของปีเพิ่มเป็นร้อยละ 48 โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดใน 10 แคว้น ได้แก่ Grand Est, Île de France, Hauts de France, Bourgogne Franche – Comté, Centre Val de Loire, Auvergne Rhône-Alpes, Pays de la Loire, Normandie, Occitanie และ Corse และใน 7 จ. ได้แก่ จ. Haut-Rhin, Moselle, Paris, Seine-Saint-Denis, Hauts de Seine, Val de Marne และ Val d’Oise
อธิบดีกรมสาธารณสุขได้แจ้งในช่วงแถลงข่าวประจำวันด้วยว่า พบว่าเริ่มมีการชะลอตัวของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเมื่อไม่กี่วันมานี้เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พัก จึงขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือและขอให้ปฏิบัติตามมาตรการนี้ต่อไป
2. เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 เม.ย.2563 ได้มีการจัดพิธีทางศาสนาสำหรับวัน Good Friday (Vendredi Saint) ณ มหาวิหาร Notre Dame de Paris โดยไม่มีประชาชนเข้าร่วม แต่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และเป็นการจัดพิธีในบริเวณที่ปลอดภัยในมหาวิหารฯ ซึ่งมิได้ถูกทำลายโดยเพลิงไหม้เมื่อปีที่แล้วเพื่อเป็นสัญญลักษณ์ของความหวังแก่ประชาชนทั้งนี้ การบูรณะมหาวิหารฯ ต้องหยุดชะงักลงในปัจจุบันด้วยเหตุวิกฤติ Covid-19 แต่คาดว่าจะสามารถบูรณะได้อีกครั้งในปี 2564 ซึ่งจะเป็นผลให้โครงการบูรณะฯ ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้เดิมว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี
3. สถานการณ์สำคัญในฝรั่งเศส
3.1 มาตรการปิดพรมแดนสหภาพยุโรป : เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2563 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ขยายระยะเวลาของการห้ามประชาชนสัญชาตินอกอียูเดินทางเข้ามาในประเทศอียู และเขต Schengen จนถึงวันที่ 15 พ.ค. 2563 จากเดิมถึงวันที่ 15 เม.ย. (https://ec.europa.eu/commiss…/presscorner/detail/…/IP_20_616)ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏรายงานเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสอาจแจ้งให้ประชาชนทราบเรื่องการบังคับใช้/การขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ในคืนวันจันทร์ที่ 13 เม.ย.2563
3.2 ผลกระทบทางเศรษฐกิจ : รมว. เศรษฐกิจและการคลังและ รมว.งบประมาณแผ่นดินแจ้งว่า กำลังเตรียมเสนอร่าง พรบ. งบประมาณฉบับแก้ไขต่อ ครม.ในวันพุธที่ 15 เม.ย.เพื่อการแก้วิกฤติทางสาธารณสุขและการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยคาดว่าในปี 2563 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศสจะติดลบร้อยละ 6 และจะปรับตัวลดลงเรื่อย ๆ ตราบที่ยังมีการบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พัก และหลังสิ้นสุดมาตรการฯ แล้ว ภาคเอกชนก็ต้องใช้เวลาปรับตัวเพื่อให้กิจการกลับมาเหมือนก่อนเกิดวิกฤติและนักท่องเที่ยวก็จะยังไม่กลับมาท่องเที่ยวในฝรั่งเศสในทันที
นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีหนี้สินร้อยละ 112 ของ GDP ในขณะที่ก่อนวิกฤติเคยตั้งเป้าหมายให้สามารถปรับลดหนี้สินให้เหลือร้อยละ 98 และคาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้จากการเก็บภาษีต่าง ๆ ลดลงด้วย ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการขาดดุลงบประมาณถึงร้อยละ 7.6 หรือ 1.7 แสนล้านยูโร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ตัดสินใจเพิ่มงบประมาณสำหรับแผนฉุกเฉินแก้วิกฤติทางสาธารณสุข จากเดิม 4.5 หมื่นล้านยูโร เป็น 1 แสนล้านยูโร
3.3 แผนฟื้นฟูหลังวิกฤต Covid-19 : เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2563 รมว.สิ่งแวดล้อมฝรั่งเศสได้ร่วมกับ รมต. อียูอีก 10 ประเทศ เรียกร้องให้แผนฟื้นฟูหลังวิกฤติ covid-19 คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศด้วยเพื่อนำการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่งคั่งกลับมายังยุโรป โดยยังคงต้องรักษาไว้ซึ่งการลดความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ การบรรลุ climate neutrality ในปี ค.ศ. 2050 การเพิ่มเป้าหมายของอียูในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 50-55 สำหรับปี ค.ศ. 2030 ตามกำหนดของความตกลงปารีส และเรียกร้องให้ คมธ. ยุโรป ใช้ข้อริเริ่มในกรอบ European Green Deal เป็นกรอบการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งจะสามารถกระทำได้หากทุกประเทศในยุโรปร่วมมือกัน พร้อมทั้งจะต้องเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะในด้าน sustainable mobility, พลังงานหมุนเวียน, การคิดค้นนวัตกรรมและการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและ circular economy (สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://climatechangenews.com/…/european-green-deal-must-c…/)
3.4 การบริจาคยารักษา : บริษัท Sanofi ประกาศว่าจะบริจาคยา hydroxychloroquine จำนวน 100 ล้าน dose ให้แก่ประเทศต่าง ๆ กว่า 50 ประเทศ หลังจากได้รับคำสั่งซื้อยาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นจากทั่วโลก โดยขณะนี้ได้เพิ่มกำลังการผลิตแล้วร้อยละ 50 และคาดว่าจะสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นอีก 4 เท่าก่อนช่วงฤดูร้อนนี้ (ปลาย มิ.ย.)