สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.สถิติวันจันทร์ที่ 13 เม.ย. 2563 (เวลา 14.00 น.)
– ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 98,076 ราย (เพิ่มขึ้น 2,673 ราย) และผู้ติดเชื้อที่บ้านพักคนชรา จำนวน 38,703 ราย (เพิ่มขึ้น 1,515 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ที่พบการติดเชื้อจากการตรวจ test PCR และผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่มิได้ทำการตรวจ test)
*หมายเหตุ : ทางการฝรั่งเศสใช้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR เป็นตัวเลขยืนยันผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการโดยไม่รวมผู้สงสัยว่าติดเชื้อและข้อมูลจากบ้านพักคนชราเป็นยอดสะสม มิใช่การเพิ่มขึ้นใน 24 ชม.
– รักษาอยู่ที่ รพ. 32,113 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 1,257 ราย และรักษาหายออกจาก รพ. แล้ว 27,718 ราย
– อาการหนัก 6,821 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 227 ราย นับเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลง (จำนวน 24 ราย)
– เสียชีวิตที่ รพ. 9,588 ราย (เพิ่มขึ้น 335 ราย) เสียชีวิตที่บ้านพักคนชรา 5,379 ราย (เพิ่มขึ้น 239 ราย) **รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14,967 ราย (เพิ่มขึ้น 574 ราย)**
2. เมื่อเวลา 20.02 – 20.30 น. ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้แถลงทางโทรทัศน์แจ้งถึงผลการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 และการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 การขยายเวลาบังคับใช้มาตรการฯ
– ขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พักจนถึงวันที่ 11 พ.ค.2563 ภายใต้ข้อบังคับและแนวปฏิบัติทางสาธารณสุขเช่นเดิม โดยจะคอยเฝ้าระวังให้ทุกพื้นที่มีการใช้ข้อบังคับและมาตรการต่าง ๆ ให้เหมือนกันทั่วประเทศโดยไม่มีการเพิ่มข้อห้ามมากจนเกินความจำเป็น
– ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2563 ทุกคนจะสามารถกลับไปทำงานได้หากมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่างเพียงพอแล้ว แต่สถานบริการบางแห่งจะยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ อาทิ โรงแรม café บาร์ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ และยังจะไม่สามารถจัดงาน festival และมหกรรมใหญ่ ๆ ได้จนถึงกลางเดือน ก.ค.2563 เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม จะมีการประเมินสถานการณ์หลังวันที่ 11 พ.ค. เพื่อปรับให้เข้ากับความจำเป็นและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่
– ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. จะให้เริ่มทยอยเปิดทำการสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานศึกษาต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาทางไกลโดยจะมีการวางแผนให้สามารถปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางด้านสาธารณสุขได้ แต่สำหรับมหาวิทยาลัย จะยังไม่มีการเรียนการสอนในห้องเรียนจนถึงฤดูร้อนปีนี้เป็นอย่างเร็ว
– ขยายระยะเวลาปิดชายแดนกับประเทศนอกอียูออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
2.2 มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบ
– ขยายระยะเวลาของมาตรการการพักงานพนักงานโดยยังได้รับเงินเดือนอยู่ (chômage partiel)
– ขอให้รัฐบาลเพิ่มความช่วยเหลือภาคเอกชนและทำให้การเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐบาลง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ บ. ขนาดเล็กและผู้ประกอบการอิสระ (fonds de solidarité) โดยขอให้ธนาคารและ บ. ประกันภัยมีส่วนร่วมให้ คชล. ด้วย
– จะมีแผนให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อาทิ การท่องเที่ยวโรงแรม ร้านอาหาร วัฒนธรรมและการจัด event โดยจะยกเลิกภาระการจ่ายเงินสมทบต่างๆ และจะมีมาตรการช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ
– นอกจากนั้น ในวันที่ 15 เม.ย.2563 ครม. จะพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น ให้ความช่วยเหลือพิเศษต่อครอบครัวด้อยฐานะ และ นศ. ที่ไม่มีรายได้
2.3 การปฏิบัติตัวและการเตรียมแผนดำเนินการ
– ขอให้โรงพยาบาลและบ้านพักคนชราสามารถจัดให้ญาติเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
– ให้มีการจัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะกิจการที่มีความจำเป็นต่อประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไม่หยุดชะงัก
– ขอให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ยังคงต้องห้ามออกจากที่พักต่อไปหลังจากวันที่ 11 พ.ค. ไปแล้ว ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งว่าจะต้องใช้มาตรการดังกล่าวถึงเมื่อใด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. จะมีการตรวจสอบการติดเชื้ออย่างกว้างขวาง กล่าวคือ ต้องสามารถตรวจสอบทุกคนที่มีอาการป่วยติดเชื้อไวรัส covid-19 ได้ เพื่อให้สามารถแยกกักตัวรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที แต่มิได้หมายถึงจะต้องทำการตรวจสอบประชาชนทุกคนทั่วประเทศ
– ได้เตรียมความพร้อมของการใช้ application ประเภท contact tracing บนพื้นฐานของความสมัครใจและอย่างนิรนาม
– รัฐบาลจะจัดหน้ากาก (กันละอองน้ำลาย) ให้กับประชาชนทุกคน ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2563 ไปแล้ว
– รัฐบาลจะเสนอแผนการดำเนินการสำหรับช่วงหลังวันที่ 11 พ.ค.2563 ในอีก 15 วันนี้ ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าวิกฤติไวรัสนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด โดยรัฐบาลจะทุ่มงบประมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้นในการค้นคว้าวัคซีน และเร่งหายารักษา นอกจากนั้น จะให้ความช่วยเหลือประเทศในทวีปแอฟริกา ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจโดยจะผลักดันให้มีการพิจารณายกเลิกหนี้สินของประเทศเหล่านี้ต่อไป
3. สถานการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง
3.1 ความเห็นเรื่องการเตรียมการก่อนยกเลิกมาตรการห้ามออกจากที่พัก : สถาบันสาธารณสุขและการค้นคว้าทางการแพทย์แห่งชาติฝรั่งเศส (Institut national de la santé et de la recherche médicale -Inserm) ได้ศึกษาเกี่ยวกับวิธีดำเนินการเพื่อยกเลิกมาตรการห้ามออกจากที่พักในแคว้น Ile-de-France สรุปได้ว่า หากยกเลิกมาตรการฯ โดยปราศจากการเตรียมการที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัส covid-19 เป็นครั้งที่ 2 ซึ่ง รพ. ต่าง ๆ จะไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เนื่องจากยังไม่มีประชาชนที่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส covid-19 ในจำนวนที่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องทำการตรวจสอบการติดเชื้ออย่างกว้างขวางเพื่อ identify ผู้ติดเชื้อและผู้ที่เข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ เพื่อสามารถแยกกักตัวบุคคลเหล่านี้ได้ทันท่วงที ทั้งนี้ หากไม่มีมาตรการเตรียมการใด ๆ จะทำให้ช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งที่ 2 มีผู้ป่วยอาการหนักเกินกำลังของ รพ.ในแคว้น Ile-de-France ถึง 40 เท่า
อนึ่ง Inserm ประเมินว่าแคว้น Ile-de-France น่าจะมีความพร้อมในการทำการตรวจสอบการติดเชื้อของประชาชนอย่างกว้างขวางประมาณเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย. เป็นต้นไป ซึ่งหากยังคงบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พักถึงเดือน มิ.ย. ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.ในช่วงเวลาเดียวกันได้อย่างมาก โดย Inserm สนับสนุนให้ใช้มาตรการนี้ต่อกลุ่มผู้สูงวัยและเห็นว่าไม่ควรเปิดสถานศึกษาก่อนฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-ต.ค.) รวมทั้งควรให้พนักงานส่วนมากยังคงทำงานจากที่พักและทยอยเปิดกิจการร้านค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 80 และชะลอการแพร่ระบาดใหญ่เป็นครั้งที่ 2 ออกไปได้อย่างน้อย 1 เดือนครึ่งถึง 3 เดือน (เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการใด ๆ เลย)
3.2 การชดเชยความเสียหายโดยบริษัทประกันภัย : ปธ. สมาพันธ์บริษัทประกันภัยฝรั่งเศส (la Fédération française de l’assurance – FFA)ให้สัมภาษณ์ นสพ. Le Figaro ว่า บ.ประกันภัยไม่อยู่ในฐานะที่จะสามารถชดเชยความเสียหายของบริษัทต่าง ๆ สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ได้ ซึ่งปัจจุบันประเมินความเสียหายอยู่ที่ 6 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าเงินทุนของ บ.ประกันภัยทั้งหมด (โดยไม่รวม บ. ประกันชีวิต) และแจ้งด้วยว่าสมาพันธ์ฯ กำลังศึกษามาตรการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ อาทิ การลงทุนกว่าหนึ่งพันล้านยูโรในบริษัทประเภท PME (petites et moyennes entreprises มีลูกจ้าง 10 – 249 คน) และประเภท ETI (entreprises de taille intermédiaire มีลูกจ้าง 250 – 4,999 คน) โดยเฉพาะในสาขาด้านสุขภาพ และจะศึกษาความเป็นไปได้ของการลดเบี้ยประกันและการขยายระยะเวลารับประกัน นอกจากนี้ บ. ประกันภัยฝรั่งเศสยังได้สนับสนุนกองทุนเงินช่วยเหลือสำหรับ บ. ขนาดเล็กและผู้ประกอบการอิสระ (fonds de solidarité) แล้วถึง 200 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม ปธ.สมาพันธ์ฯ ได้แจ้งว่าจะไม่มีข้อตกลงให้ บ.ประกันภัยทุกรายต้องคืนเงินเบี้ยประกันภัยรถยนต์ เนื่องจากแต่ละบริษัทมีความสามารถในเรื่องนี้ไม่เท่าเทียมกัน โดยบางบริษัทต้องแบกรับการชดใช้ความเสียหายจากกรณีอื่น ๆ ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย