ประวัติสถานเอกอัครราชทูต

 

 

 

การเปิดสำนักงานและเขตอาณาในระยะแรก

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งผู้แทนทางการทูตของไทยไปประจำราชสำนักและสำนักต่างๆในยุโรป โดยในปี พ.ศ. 2425  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ในขณะที่ทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย ดำรงตำแหน่ง “อัครราชทูตวิเศษ” (Envoy Extra-ordinary and Plenipotentiary) ประจำราชสำนักและสำนักต่างๆในยุโรป รวม 10 แห่ง โดยมีถิ่นพำนักอยู่ ณ กรุงลอนดอน พร้อมกับเปิดสถานอัครราชทูต (Legation) ณ กรุงลอนดอน และส่งข้าราชการในระดับ “เลขานุการ” “ผู้ช่วย” และล่าม ไปประจำการ

ในปี พ.ศ. 2426 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสถานอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ให้มีเขตอาณาครอบคลุม ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี สเปน โปรตุเกส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดนนอร์เวย์ (ขณะรวมเป็นประเทศเดียวกัน)

ในปี พ.ศ. 2430 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับเขตอาณาของสถานอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ซึ่งในระยะนั้นใช้ชื่อว่า “ศาลาว่าการราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส” ให้มีเขตอาณาครอบคลุมฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และโปรตุเกส และแต่งตั้งอัครราชทูต ตลอดจนข้าราชการประจำสถานอัครราชทูต

ในปี พ.ศ. 2440 สถานอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีเขตอาณาครอบคลุมรัสเซียเพิ่มขึ้นอีกประเทศหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2457 สถานอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีเขตอาณาครอบคลุมเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์

เมื่อกรุงปารีสถูกโจมตีในปี พ.ศ. 2483 พระพหิทธานุกร (ส่วน นวราช) อัครราชทูต ณ กรุงปารีส ได้ย้ายถิ่นพำนักไปยังประเทศโปรตุเกส

ประเทศไทยได้เปิดสถานอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขึ้นใหม่ ใน พ.ศ. 2490 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง

ในปี พ.ศ. 2492 ยกระดับสถานอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เป็นสถานเอกอัครราชทูต

 

ลำดับที่ตั้งของคณะผู้แทนราชอาณาจักรสยาม/ราชอาณาจักรไทยในกรุงปารีส

 

พ.ศ. ชื่อ ที่อยู่
2407 – 2408 Consul 55 rue Caumartin – Paris
2409 – 2422 Consul 18 rue d’Amsterdam – Paris
2423 Consul Général 49 rue de Saint-Pétersbourg – Paris
2424 – 2426 Consul Général 41 rue de Saint-Pétersbourg – Paris
2427 Ambassade du Royaume de Siam Rue de la Pompe – Paris
2428 – 2434 Ambassade du Royaume de Siam Rue de Siam – Passy – Paris
2435 – 2443 Ambassade du Royaume de Siam 14 rue Pierre Charron – Paris
2444 – 2455 Ambassade du Royaume de Siam 14 avenue d’Eylau – Paris [1]
2456 Ambassade du Royaume de Siam 38 avenue du Trocadéro – Paris
2457 – 2491 Ambassade du Royaume de Siam 8 rue Greuze – Paris 16ème
2492 – ปัจจุบัน Ambassade du Royaume de Thaïlande 8 rue Greuze – Paris 16ème

 

ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2457 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส (ขณะนั้นประทับอยู่ ณ เลขที่ 38 avenue du Trocadéro กรุงปารีส เขต 16) ได้ลงนามในนามและในฐานะอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยาม ในสัญญาซื้อ-ขายคฤหาสน์และที่ดิน ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 8 ถนน Greuze กรุงปารีสเขต 16 จากเคานต์ เดอ โซนีส ซึ่งเป็นผู้จัดการในนามและในฐานะเป็นตัวแทนของ เคานต์เตส ฟรองซวส เดอ โซนีส (Comtesse Françoise de Sonis) ผู้เป็นเจ้าของ ในราคา 442,500 ฟรังก์ (สี่แสนสี่หมื่นสองพันห้าร้อยฟรังก์) ชำระเป็นเงินสด

ประเทศสยามซื้ออาคารและที่ดินแห่งนี้เพื่อใช้เป็นที่ทำการสถานอัครราชทูตและที่พักของข้าราชการและลูกจ้าง ตั้งอยู่ในเขต 16 ซึ่งเป็นเขตพำนักอาศัยที่ดีที่สุดเขตหนึ่งของกรุงปารีส และเป็นเขตที่มีสถานที่ทำการของสถานทูตต่างประเทศตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก

อาคารและที่ดินแห่งนี้ก่อสร้างมาแล้วประมาณ 15 ปี ก่อนขายให้แก่ประเทศสยาม มีพื้นที่ทั้งสิ้น 647.20 ตารางเมตร มีทางเข้าทางเดียวทางหน้าบ้านเป็นประตูหลังคาโค้ง มีซุ้มประตูทางเข้าสำหรับรถม้าวิ่งตามทางจนถึงลานบ้านและตึกข้างหลัง เดิมมีสวนเนื้อที่ 126 ตารางเมตร คอกม้าและลานกว้าง 225.55 ตารางเมตร ตัวตึกก่อหินมี 3 ชั้น ชั้นล่างมีห้องขนาดใหญ่หลายห้อง ห้องอาหาร ชั้นที่สองมีห้องนอนและห้องน้ำ ชั้นที่ 3 มีห้องนอนอีกหลายห้อง ชั้นใต้ดินมีห้องครัว ห้องซักรีด ห้องเก็บไวน์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ได้รับเงินพระราชทานสำหรับสร้างสถานทูตแห่งนี้ 750,000 ฟรังก์ เพื่อใช้ในการซื้อบ้าน ค่าภาษี ค่าทำสัญญา ค่าเสียหายของผู้เช่าบ้าน (Princesse Frédéric Charles de Hohenlohe) ที่ต้องออกจากบ้านก่อนสิ้นกำหนดสัญญา และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด รวมประมาณ 500,000 ฟรังก์ ส่วนเงินที่เหลืออีก 250,000  ฟรังก์ ใช้เป็นค่าซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงตัวตึกส่วนที่อยู่ของราชทูต ค่าก่อสร้างตึกออฟฟิศและที่พักสำหรับข้าราชการกับโรงรถยนต์ ค่าจ้างสถาปนิก ค่าพระบรมรูปสำหรับประดับสถานอัครราชทูตและของเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

หลังจากผู้ขายได้ส่งมอบบ้านและที่ดินในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ทรงมอบหมายให้สถาปนิกชื่อนาย J.M. Auburtin เริ่มทำการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงอาคาร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2457 แต่ต้องยุติงานชั่วคราวเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ทรงพิจารณาเห็นว่า การจะก่อสร้างให้เสร็จในเวลาระหว่างสงครามนี้ คงจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ของงบประมาณเดิม แต่ถ้ารอให้จบสิ้นสงครามแล้ว อาจจะต้องเสียเงินมากกว่านี้ จึงทรงขอพระราชทานเงินเพิ่มอีก 50,000 ฟรังก์ เพื่อจะได้จัดการก่อสร้างให้สำเร็จเสียโดยเร็ว เมื่อได้รับพระราชทานเงินเพิ่ม ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2458 จึงย้ายสถานทูตเข้าที่ทำการใหม่ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2458

อาคารปัจจุบันของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประกอบด้วยอาคารหลัก 2 อาคาร โดยอาคารด้านหน้า เนื้อที่ 260 ตารางเมตร ส่วนอาคารที่อยู่ด้านหลังเป็นอาคาร 3 ชั้น มีเนื้อที่ 225.55 ตารางเมตร ในอดีตรัฐบาลไทยใช้สถานเอกอัครราชทูต เลขที่ 8 ถนน Greuze เป็นทั้งที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูต จนถึงปี พ.ศ. 2508 จึงได้ซื้ออาคารต่างหาก เพื่อใช้เป็นทำเนียบเอกอัครราชทูต[2]

อาคารสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เนื่องจากชั้น 2 ของตึกหน้าเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะยังทรงพระเยาว์ระหว่าง พ.ศ. 2490-2491 เมื่อครั้งทรงติดตามพระบิดา (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ขณะทรงดำรงพระยศ พันเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) ซึ่งทรงเคยดำรงตำแหน่งอัครราชทูต (ก่อนยกระดับหัวหน้าสำนักงานเป็นระดับเอกอัครราชทูตในเวลาต่อมา) อีกทั้ง ยังเคยเป็นที่ประทับและทรงงานของสมาชิกพระราชวงศ์ที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอัครราชทูต และเอกอัครราชทูต อีกหลายพระองค์ ล่าสุด ได้ปรับปรุงห้องทำงานของเอกอัครราชทูตเป็นสถานที่ทรงงานในบางโอกาสของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในช่วงปี 2552 – 2554

ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ ได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงหลายครั้งเนื่องจากตัวอาคารมีอายุเก่าแก่กว่า 130 ปี และเคยปิดอาคารสถานเอกอัครราชทูตเป็นการชั่วคราว เพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมใหญ่เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2540 โดยย้ายสถานเอกอัครราชทูตไปยังที่ทำการชั่วคราว ซึ่งเป็นอาคารเช่าเลขที่ 12 ถนน Lord Byron กรุงปารีส เขต 8 เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน[3] ต่อมาได้เปิดทำการอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2541 โดยใช้อาคารด้านหน้าเป็นที่ทำการหลักของสถานเอกอัครราชทูต ส่วนอาคารด้านหลังซึ่งเดิมเคยเป็นที่พักของครอบครัวของข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่ทำการของฝ่ายกงสุลที่ชั้นล่าง สำหรับชั้นบนได้ปรับปรุงให้เป็นที่ทำการของหน่วยงานราชการไทยอื่นๆ ซึ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 หลายสำนักงานได้ย้ายเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณของสถานเอกอัครราชทูต ตามนโยบายทีมไทยแลนด์และเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน หน่วยงานเหล่านี้ ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศ

———————————–

เรียบเรียงโดย นางกล้วยไม้ เดชอง ตำแหน่ง ล่าม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส

อ้างอิง

– ประวัติและวิวัฒนาการของกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2418-2541 พิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสพิธีเปิดอาคารที่ทำการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542

– คำกราบบังคมทูลถวายรายงานของนายสาโรจน์ ชวนะวิรัช เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรไทย ณ กรุงปารีส ต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2544

– ลายพระหัตถ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ที่ 231/3640 ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2456 ขอพระราชทานกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ

– ลายพระหัตถ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ที่ 55/907 ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2458 ขอพระราชทานกราบทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ  เสนาบดีว่าการต่างประเทศ

– หนังสือกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ที่ 4448/AR/ACI ลงวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 2000

– หนังสือกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ที่ 5327/AR/ACI ลงวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2000

– สภา ปาลเสถียร. ถิ่นที่แห่งชีวิต.-กรุงเทพฯ: โพสต์บุ๊กส์, 2553. งามพรรณ เวชชาชีวะ, ผู้แปล

– พ.อ. ศรศักร ชูสวัสดิ์.- เมื่อต้องเสด็จฯ “ไกลบ้าน”.- กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ, 2554

[1] เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนกรุงปารีส เมื่อวันที่ 18-21 มิถุนายน พ.ศ. 2450

[2] ตั้งอยู่เลขที่ 8 ถนน Albéric Magnard กรุงปารีส เขต 16

[3] ในสมัยนายเตช บุนนาค เป็นเอกอัครราชทูตฯ

**********************************

 

ประวัติความเป็นมาของทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส

ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ตั้งอยู่เลขที่ 18 rue Albéric Magnard กรุงปารีส เขต 16  อยู่ใกล้สำนักงานใหญ่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD)

รัฐบาลไทยซื้ออาคารและที่ดินแห่งนี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) ซึ่งผู้ครอบครองเดิมขายพร้อมเครื่องเรือน เครื่องใช้ และเครื่องตบแต่งที่ติดตั้งอยู่ในอาคารทั้งหมด ในราคา สี่ล้านห้าหมื่นฟรังก์ เมื่อรวมค่าธรรมเนียมในการทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์แก่ทนายความ จำนวนห้าหมื่นหนึ่งพันฟรังก์แล้ว คิดเป็นราคาทั้งสิ้น

สี่ล้านหนึ่งแสนหนึ่งพันฟรังก์ (เท่ากับเงินไทยในเวลานั้น  สิบเจ็ดล้านสี่แสนสองหมื่นเก้าพันแปดร้อยเก้าสิบบาท เจ็ดสิบแปดสตางค์) จำนวนเนื้อที่ทั้งหมด 931.37 ตารางเมตร ผู้ลงนามในสัญญาในนามของรัฐบาลไทยคือ นายบุณย์ เจริญไชย เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส (ในขณะนั้น) ส่วนผู้ขายชื่อ Madame Josette Solvay ซึ่งเป็นภริยาหม้ายของ Monsieur Maurice Solvay นักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเคมีรายใหญ่ของฝรั่งเศส

อาคารหลังนี้สร้างเมื่อ ค.ศ. 1927 โดยสถาปนิกชื่อ André Hott ตั้งอยู่ในเขตที่ 16 ซึ่งเป็นเขตที่ดีที่สุดเขตหนึ่งของกรุงปารีส และเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตหลายประเทศ อาคารตั้งอยู่ไม่ไกลจากสวนสาธารณะ Bois de Boulogne ย่านชุมนุมชนและร้านค้า ใกล้กับสถานีรถใต้ดิน La Muette (สาย 9)

Madame Josette Solvay ชาวฝรั่งเศส เดิมเป็นศิลปินและดาราภาพยนตร์ (ชื่อเดิมคือ Josette Day) ได้รับอาคารหลังนี้เป็นของขวัญจาก Monsieur Solvay เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1950 ก่อนการสมรส

อาคารแห่งนี้ก่อสร้างด้วยหินอย่างแข็งแรง (pierre de taille) ด้านหน้าติดถนน ภายในมีที่จอดรถและสนามหญ้าอยู่ด้านข้าง ตัวอาคารมีความโอ่โถง ชั้นล่าง (ชั้น 0) เป็นที่เลี้ยงรับรองและรับประทานอาหาร มีห้องโถง บันไดขนาดใหญ่ ห้องรับแขกใหญ่ ห้องรับแขกเล็ก ห้องอาหาร ติดกับห้องรับแขกใหญ่มีเฉลียงหินยื่นออกไปในสวน สามารถใช้รับรองแขกได้ในฤดูร้อน ชั้นที่ 1 เป็นที่อยู่ของเอกอัครราชทูตและครอบครัว และได้จัดเป็นที่ประทับชั่วคราวถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จฯ เยือนกรุงปารีส ในปีต่างๆ

ชั้นที่ 2 มีห้องขนาดใหญ่และขนาดย่อมซึ่งมีห้องน้ำในตัวหลายห้อง ใช้เป็นห้องพักสำหรับแขกที่ผ่านมาเยี่ยมได้ นอกจากนั้นยังมีชั้นใต้ดินซึ่งมีห้องครัวใหญ่และห้องอีกหลายห้องสำหรับผู้ติดตาม

เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในอาคารและที่ดินทำเนียบฯ เป็นหนังสือสัญญาซื้อขาย ไม่มีโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์ โดยผังที่ดินถูกเก็บรักษาไว้ที่ศาลาเทศบาลเขตปารีส 16 ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาแผนผังที่ดินทั้งหมดของเขตปารีส 16 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนหนึงในเขตนี้สามารถแสดงความประสงค์ขอดูแผนผังดังกล่าวได้

ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมด้านระบบสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ พร้อมทั้งตกแต่งภายในใหม่ ระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 โดยในช่วงดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับอนุมัติให้เช่าบ้านพักเพื่อใช้เป็นทำเนียบชั่วคราวของเอกัครราชทูตฯ ที่เมือง Neuilly – sur – Seine ชานกรุงปารีส

————————————————-

เรียบเรียงโดย นางกล้วยไม้ เดชอง ตำแหน่ง ล่าม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส

อ้างอิง

– หนังสือสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ที่ กต 2391/2507 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2507

– หนังสือสำนักงบประมาณ ที่ สร.0407/835 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2508

– หนังสือกระทรวงการต่างประเทศ ด่วน ที่ กต 0203/5089 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2508

– เอกสารสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สรุปข้อมูลเบื้อต้นเกี่ยวกับอาคารทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ