ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส

จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และจักรพรรดินีเออเฌนี เสด็จออก ณ ท้องพระโรงพระราชวังฟงแตนโบล ทรงรับคณะราชทูตสยาม
เมื่อ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1861 ภาพโดย ฌ็อง-เลอง แยโรม

ที่มา https://commons.wikimedia.org

๑. การทูต

ไทยกับฝรั่งเศสเริ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามเมื่อปี ๒๒๒๘ ต่อมา ราชทูตสยาม (โกษาปาน) ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อปี ๒๒๒๙

ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๓๙๙

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสได้แต่งตั้งให้ นายตีแยรี มาตู (Thierry Mathou) เป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย (เข้ารับตำแหน่งเมื่อ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓-ปัจจุบัน)

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองลียง และเมืองมาร์แซย์ ส่วนฝรั่งเศสได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) และเชียงราย

ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ฝรั่งเศสครบรอบ ๑๖๐ ปี เมื่อปี ๒๕๕๙ จึงได้มีการจัดงานฉลองความสัมพันธ์ในช่วงปี ๒๕๖๐ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ได้จัดสัมมนาเรื่อง“ความสัมพันธ์ ๑๖๐ ปี ไทย-ฝรั่งเศส” ณ สถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออก (Institut National des Langues et Civilisations-INALCO) กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๐ โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จเป็นประธาน ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยมีการจัดกิจกรรม เพื่อฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ดังกล่าวเช่นกัน

๒. การเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสดำเนินไปอย่างราบรื่นและไม่มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคระหว่างกัน ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศได้ยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์” โดยมีแผนปฏิบัติการร่วม ไทย-ฝรั่งเศส (Joint Plan of Action) ฉบับที่ ๑ (ปี ๒๕๔๗ – ๒๕๕๑) และฉบับที่ ๒ (ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗) เป็นกลไกสำคัญ

ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนเยือนในระดับต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในระดับพระราชวงศ์ ภาครัฐและเอกชน โดยในระดับผู้นำประเทศล่าสุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ซึ่งถือเป็นการเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีไทยเป็นครั้งแรกในรอบ ๖ ปี ขณะที่ นายฌอง-มาร์ค เอโรต์ (Jean-Marc Ayrault) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๔-๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เพื่อสานต่อผลการเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

๓. การค้า การลงทุน

ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ ๔ ของไทยในสหภาพยุโรป (รองจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์) ในปี ๒๕๕๗ มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน ๔,๐๗๗.๙๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๕๖ ร้อยละ ๒๙.๙๘ โดยไทยเสียดุลการค้า ๗๘๖.๓๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เลนส์แว่นตา เครื่องปรับอากาศ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และข้าว โดยไทยนำเข้า เครื่องบิน (แอร์บัส) เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์เวชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลม และสุรา

ฝรั่งเศสลงทุนในไทยมากเป็นลำดับที่ ๓ ของสหภาพยุโรป (รองจากเนเธอแลนด์และเยอรมนี) โดยปัจจุบัน
มีบริษัทของฝรั่งเศสลงทุนในไทยประมาณ ๓๕๐ บริษัท อาทิ กลุ่มบริษัท Michelin, Valeo, Saint Gobain และ

ในปี ๒๕๕๗ มีโครงการของฝรั่งเศสที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยจำนวน ๑๒ โครงการ มูลค่ารวมประมาณ ๑๘๒ พันล้านบาท นอกจากนี้ ภาคเอกชนฝรั่งเศสยังมีความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลไทยด้วย

ในส่วนการลงทุนของไทยในฝรั่งเศสนั้น

๑.  บริษัท Thai Union Frozen Products PCL
ได้ซื้อกิจการอาหารทะเลกระป๋องของบริษัท MW Brands ของฝรั่งเศส ด้วยเงินลงทุนประมาณ ๙๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี ๒๕๕๓

๒.  กลุ่มบริษัท PTT Global Chemical
ได้ซื้อหุ้นในอัตราร้อยละ ๕๑ จากบริษัท Perstorp Holding France SAS ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและเจ้าของเทคโนโลยีในสายการผลิตพลาสติกที่มีบทบาทสำคัญในยุโรปและเอเชีย เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ ๑๕๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

๓.  บริษัทกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ (Double A)
ได้ซื้อกิจการโรงเยื่อและโรงกระดาษอลิเซ่ (Alizay) ของฝรั่งเศสเมื่อปี ๒๕๕๕ ด้วยเงินลงทุนประมาณ ๒๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

๔. การท่องเที่ยว

ไทยและฝรั่งเศสได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ โดยสองฝ่ายจะร่วมมือกันในด้านการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวทางเรือ และการพัฒนามาตรฐานด้านการท่องเที่ยว

ในปี ๒๕๖๑ มีนักท่องเที่ยวฝรั่งเศสมาไทยจำนวน ๗๔๙,๖๔๓ คน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๒๘ จากปี ๒๕๖๐

๕. ความร่วมมือทางวิชาการ

รัฐบาลฝรั่งเศสได้เริ่มให้ทุนในรูปแบบต่างๆ แก่ฝ่ายไทยมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ในระดับปริญญาโทและเอก รวมถึงทุนฝึกอบรมระยะสั้น และทุนดูงานตามคำขอของหน่วยงานต่างๆ โดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยจะจัดการประชุมประจำปี เพื่อพิจารณาคำขอของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กรอบ

๑) โครงการความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการศึกษา (Bureau de Coopération pour le Français – BCF)

เน้นทางด้านการเรียน/ การสอนภาษาวัฒนธรรมฝรั่งเศส และการท่องเที่ยว

๒) โครงการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการไทย-ฝรั่งเศส (Thai-French Scientific and Technical Cooperation Program – STC)

เน้นสาขาสังคมศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรมศาสตร์ และผังเมือง วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์

นอกจากนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสยังได้มอบทุนฝึกอบรมประจำปีแก่ครูไทยที่สอนภาษาฝรั่งเศสและนักเรียนไทยที่เรียนภาษาฝรั่งเศส และจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมให้แก่ศึกษานิเทศก์และครูสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี รวมทั้งให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมทางวิชาการและการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนแก่กระทรวงศึกษาธิการด้วย

ปัจจุบันรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสมีความตกลงที่เกี่ยวกับการศึกษา ๓ ฉบับ ได้แก่

    1. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษาและการวิจัย (๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕)
  1. หนังสือแสดงเจตจำนงด้านการศึกษาในการจัดส่งอาสาสมัครครูจากฝรั่งเศสมาช่วยสอนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนมัธยมของไทย (๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖)
  2. หนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยการให้ทุนด้านการสอนภาษาฝรั่งเศสเพื่อบรรจุเข้ารับราชการครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๖)

๖. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฝ่ายฝรั่งเศสให้การฝึกอบรมบุคลากรของไทยในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ ความปลอดภัยของอาหารและการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

นอกจากนี้ สองฝ่ายยังมีความร่วมมือในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ โดยได้มีการลงนามในสัญญาระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนเทศ (Geo-Informatics and Space Technology Development Agency-GISTDA) กับบริษัท EADS-ASTRIUM ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๗ สำหรับความร่วมมือในโครงการดาวเทียมสำรวจทรัพยากร (Thailand Earth Observation Satellite – THEOS) ซึ่งการจัดซื้อดาวเทียมดังกล่าวกระทำในลักษณะการค้าต่างตอบแทน (barter trade) มีมูลค่ากว่า ๖ พันล้านบาท ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อภาษาไทย ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ ว่า “ดาวเทียมไทยโชต” เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย และจะช่วยเสริมศักยภาพให้กับประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะการจัดการด้านระบบเตือนภัยพิบัติ การแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติด และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้มี การส่งดาวเทียม THEOS ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ (มีอายุใช้งาน ๗ ปี)

๗. ด้านวัฒนธรรม

ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส สองฝ่ายตกลงที่จะมีการแลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างกัน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและความใกล้ชิดระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยฝ่ายฝรั่งเศสได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทย (La Fête) ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๔๗ และได้จัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปี ๒๕๕๘ (รวม ๑๑ ครั้ง)

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ยังได้จัดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ
การจัดนิทรรศการศิลปะสมัยทวาราวดีที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติด้านศิลปะเอเชียกีเม่ (Musée Guimet) ที่กรุงปารีส ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการฯ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒ การจัดงาน “วันประเทศไทย” ในเมืองสำคัญต่างๆ ของฝรั่งเศส การจัดงานสุดสัปดาห์ไทยระหว่าง วันที่ ๒๑ – ๒๒ มกราคม ๒๕๕๕ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ร่วมกับพระราชวัง Fontainebleau และการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๕๐ ปี พระราชสมภพของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ณ สำนักงานใหญ่ของ UNESCO กรุงปารีส ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

๗. ด้านการทหาร

ไทยและฝรั่งเศสมีความร่วมมือด้านการทหารอย่างใกล้ชิดผ่านกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ อาทิ ความร่วมมือด้านการฝึกการปฏิบัติการร่วมทางเรือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของนายทหารในระดับผู้นำเหล่าทัพ และผู้บังคับบัญชาระดับสูง ตลอดจนการศึกษาดูงานด้านต่าง ๆ ของนายทหารสัญญาบัตร การส่งนักเรียนนายร้อยไปศึกษาต่อที่ โรงเรียนนายร้อย Saint-Cyr(École Spéciale Militaire de Saint-Cyr) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ ๑๐ นาย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้จัดซื้อยุทโธปกรณ์ หลายชนิด จากฝรั่งเศสด้วย

ในระหว่างการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นกรอบความร่วมมือทางด้านการทหาร ความมั่นคง การส่งกำลังบำรุงและยุทโธปกรณ์ด้านการป้องกันประเทศของทั้งสองประเทศในอนาคต

๘. ความร่วมมือไตรภาคี

ไทยและฝรั่งเศสมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้ระบุในแผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ ๑ และฉบับที่ ๒

ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัค (Jacques Chirac) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ได้มีการลงนามความตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนา เพื่อเป็นกลไกในการพิจารณาและกำหนดรูปแบบและกิจกรรม/โครงการความร่วมมือ ตลอดจนบริหารโครงการ และนำมาซึ่งการลงนามในความตกลงจัดตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส (Agence Française de Développement -AFD) ของฝรั่งเศสในประเทศไทย

โครงการความร่วมมือไตรภาคีที่สำคัญ ได้แก่ โครงการทุนศึกษาปริญญาเอกกาญจนาภิเษกซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (โดย สพร.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เพื่อสนับสนุนทุนปริญญาเอกให้แก่ประเทศ CLMV (ปัจจุบัน ได้มีการยกเลิกไป เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ได้ให้เงินสนับสนุนต่อ) และโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (โดย สพร.) กับสมาคมความร่วมมือการแพทย์ฝรั่งเศส-เอเชีย (AMFA) ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมทางด้านการผ่าตัดให้แก่แพทย์ชาวเมียนมาร์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล